เมื่อทรงพระเยาว์
        ภายหลังจากที่นางพยาบาลผู้ถวายพระประสูติการจากโรงพยาบาล
จุฬาลงกรณ์ ได้กลับยังต้นสังกัดแล้ว คุณพนักงานที่เคยถวายงานใน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้มารับหน้าที่พระอภิบาล
ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยผลัดกันวันละ ๓ เวร เวรละ ๒ คน
        พระนม คือ คุณบุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดย
ตำแหน่ง เพราะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสวยพระกษิรธาราจาก
พระชนนี
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณา
จากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ใน
การถวายพระอภิบาลทรงใส่พระราชหฤทัยดูแลพระราชนัดดาอย่าง
สม่ำเสมอนอกจากนี้ยังมี ท้าวศรี สุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)
คอยถวายพระอภิบาล ดูแลกิจการทั้งปวงอันเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้า
ภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

        อนึ่ง หลังจากพระประสูติการแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงย้ายที่ประทับจาก
พระที่นั่งเทพสถานพิลาสไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองศ์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์กรมขุนสุพรรณภาควดี ภายในพระบรม
มหาราชวัง โดยมีพระฤกษ์ขึ้นตำหนักในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๖๘
เวลา ๒๓.๒๓ น. ในการนั้นพระสงฆ์ ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ครั้นถึง
เวลาพระฤกษ์พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จสู่ที่สรงน้ำ
พระพุทธมนต์แปรพระพักตร์สู่เบื้องมงคลทิศทักษิณ แล้วสรงน้ำ
พระพุทธมนต์ชำระพระองค์ จากนั้นเสด็จขึ้นสู่ที่บรรทม

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาห่วงใย
ต่อสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ มากน้อยเพียงใด ตามความที่ปรากฏใน
จดหมายเหตุตอนต้นรัชกาลที่ ๗ นั้น เป็นที่ปรากฏชัดเจนเริ่มตั้งแต่
เสด็จในพระราชพิธีรับพระองค์เมื่อมีพระประสูติการครบ ๓ วัน และ
พระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ ถึงแม้จะไม่เป็นพิธีใหญ่ เพราะอยู่
ในระหว่างไว้ทุกข์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดอย่าง
สมพระเกียรติ ตามราชประเพณีทุกประการ
        เมื่อทรงเจริญพระวัยขึ้น ก็ทรงเป็นห่วงในเรื่องที่ประทับได้
ให้เชิญเสด็จจากตำหนักใพระบรมมหาราชวังซึ่งมีอาณาเขตจำกัดออก
ไปประทับที่พระตำหนักสวนหงส์ในพระราชวังดุสิตซึ่งเป็นที่กว้างขวาง
รมรื่นแวดล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และสวนดอกไม้สวยงาม
        พิธีขึ้นพระตำหนักสวนหงส์นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จทรงอำนวยการพิธี การขึ้นพระตำหนัก
มีขึ้นในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๐ เวลา ๑๙.๑๒ น. อันเป็นประถม
พระฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จสู่ที่สรงทรงแปรพระพักตร์สู่
เบื้องมงคลทิศพายัพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และสรงน้ำ
พระพุทธมนต์ จากนั้นเชิญเสด็จพระเจ้าภคินีเธอฯบรรทมเหนือพระยี่ภู่
        ดังนั้น จึงมีพระกระแสรับสั่งให้คุณข้าหลวงผู้ใหญ่เชิญเสด็จ สมเด็จ
พระเจ้าภาติกาเธอฯ ไปที่พระตำหนัก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธา
สินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งมีพระราชธิดาประทับในบริเวณใกล้
เคียงกัน ๒ พระองค์ คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา และสมเด็จฯ
เจ้าฟ้านิภานภดล ทั้งสองพระองค์ทรงชุบเลี้ยงพระญาติ และบุตรหลาน
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไว้มาก ส่วนใหญ่มารับการฝึกฝนการช่าง การครัว
ศิลปะประดิษฐ์ หัตถศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาชั้นสูง ที่ยกย่องกันมากในสมัยนั้น
        สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จึงทรงมีโอกาสได้พบเห็นและ
ทรงคุ้นเคยกับเจ้านายฝ่ายในพร้อมทั้งเด็กหญิงวัยต่างๆ ตามควรแก่
พระอิสริยยศในราชตระกูลทั้งนี้การเสด็จมาที่ตำหนักพระวิมาดาเธอฯ
กำหนดประมาณสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
        สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ทรงเมตตาต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นอย่างยิ่ง ในภายหลัง
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงมีรับสั่งเล่าเหตุการณ์ เมื่อแรกประสูติประทาน
ข้าราชบริพารฟังว่า "ถ้าไม่ได้ท่านเจ้าฟ้าก็ไม่เป็นพระองค์" ด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นเมื่อพระอาการประชวร
เพียบหนัก สมเด็จฯ ได้เข้าเฝ้า ก็ทรงมีพระราชดำรัสฝากไว้ว่า
'ขอฝากลูกด้วย' ซึ่งสมเด็จฯ ก็ทรงสนองพระราชดำรัสด้วยทรง
เอาพระทัยใส่สม่ำเสมอมาโดยตลอด ดังที่เคยมีพระราชกระแสว่า
'เจ้าฟ้านี่ฉันตาย ก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎทรงฝากฝังเอาไว้'
พระมหากรุณาที่ทรงมีต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้นมีนานัปการ เช่น
        ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงจันทรจำรัส เกษมสันต์
ซึ่งทรงศึกษาวิชาพยาบาลมาโดยเฉพาะทรงดูแลพระอนามัยตลอดจน
ทรงแนะนำการถวายพระอภิบาลที่เหมาะสม จัดพระกระยาหารถวายตาม
หลักโภชนาการ เมื่อพระชนมายุครบปี ก็พระราชทานถาดเครื่องเสวย
พระธำมรงค์ สร้อยพระกร ฉลองพระองค์ และทองคำครึ่งแผ่นอิฐ ถึงเมื่อ
เจริญพระชันษาขึ้นแล้ว ก็ยังทรงพระมหากรุณา เช่นเมื่อใดที่วังสระปทุม
มีการฉายภาพยนตร์ก็โปรดให้ไปรับเสด็จมาทอดพระเนตรประชวร
ก็ทรงมาถวายพระอภิบาลที่วังสระปทุม ที่ตำหนักเขียว ริมน้ำ เป็นต้น
        เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนของทุกปี พระชนนีจะเชิญเสด็จไปทรงผักผ่อน
พระอิริยาบถที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับพระสหาย โดย
จะประทับณ ตำบลชายทะเล เป็นเวลา ๒ เดือน เวลาเสด็จไปและกลับ
พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีจะทรงจองรถไฟ ๑ โบกี้สำหรับ
ขบวนเสด็จทั้งขบวน
        ตำหนักซึ่งเป็นที่ประทับของทั้งสองพระองศ์นี้ พระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ทรงซื้อตำหนักพลับป่า ข ที่อยู่ติดชายทะเลจากหม่อม
เจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล องค์ตำหนักเป็นไม้ ใต้ถุนสูงสีเหลือง
มีเรือนสีเทาเป็นที่พักของผู้ตามเสด็จ
        ขณะประทับ ณ หัวหิน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะทรงพระดำเนิน
ตามชายหาดทรงเล่นทรายกับพระสหาย และเสด็จลงสรงน้ำทะเล เป็น
ที่ทรงพระสำราญยิ่ง
        ครั้นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการ
ปกครองโดยคณะราษฎร ขณะนั้น ทั้ง ๒ พระองค์ทรงอยู่ในระหว่าง
การประทับผักผ่อนพระอิริยาบถ ณ อำเภอหัวหิน เป็นเหตุให้ต้องประทับ
ที่ต่อไปอีกเป็นเวลา ๒ เดือนจึงเสด็จกลับพระตำหนักสวนหงส์
พระราชวังดุสิตดังเดิมภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนีได้ทรงย้ายจากพระตำหนักสวนหงส์
ไปประทับ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี
พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา
        ระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระอักษรกับ
ครูพิศ ภูมิรัตน พระอาจารย์ จากโรงเรียนราชินีซึ่งได้มาถวาย
พระอักษรนับแต่ประทับที่พระตำหนัก สวนหงส์ ตามเดิม
        ในเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ขึ้น
ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบนั้นในเวลากลางดึก เจ้าหมื่นสรรเพธ
ภักดี พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) และท้าวนารี
วรรักษ์ (ศรีจันทร์ บูรณศิริ) ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระชนนีจากพระตำหนักในสวนสุนันทา ไปประทับ ณ ตำหนัก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณ
ภาควดี ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อความสะดวกในการถวาย
อารักขาแต่ต่อมาได้มีเครื่องบินเล็กประสบอุบัติเหตุตกลงบริเวณ
กำแพงแก้วด้านหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานใกล้กับตำหนักที่
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประทับอยู่ เหตุการณ์ขณะนั้นเป็นที่น่า
ตระหนกยิ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงเล่าให้
ข้าราชบริพารฟังภายหลังว่า“จุดที่เครื่องบินตกนั้นใกล้กับพระตำหนัก
มาก ประตูพระบรมมหาราชวังทุกชั้นถูกปิดลั่นดาลหมด คนในไม่ได้
ออกคนนอกไม่ได้เข้า เหมือนถูกขังอยู่ มืดมนไปหมดทุกด้านเพราะ
ติดต่อใครไม่ได้เลยจะมีก็แต่คุณหญิงเฉลาที่อุตส่าห์เร้นกายแหวก
วงล้อมทหารฝ่าประตูทุกชั้นเข้ามาหาจนได้ ถึงได้รู้ความข้างนอก
บ้างว่าอะไรเป็นอะไร” หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินตกในพระบรม
มหาราชวังแล้ว สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพัน
วัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้า
ภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เสด็จไปประทับ
ณ ตำหนักเขียว วังสระปทุมเพื่อความปลอดภัย
        ขณะนั้น เหตุการณ์ไม่สงบอันเนื่องจากการเมืองยังไม่ยุติลง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรวงศ์ พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา)
กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพัน
วัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระราช
ปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีรวมทั้งเจ้านายฝ่ายใน พร้อมกัน
เสด็จโดยเรือภาณุรังษีไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อยจังหวัดสงขลา
        เมื่อเหตุการณ์สงบลง รัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ
กลับมาประทับในกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ ใน
วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๖
        เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนีเสด็จกลับจาก
จังหวัดสงขลา ก็ได้ประทับ ณ ตำหนักเขียว วังสระปทุม อยู่
ระยะหนึ่งจึงเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า
สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา ดังเดิม
        เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว ในกาล
ต่อมา พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระดำริจะทรง
สร้างตำหนักที่ประทับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ บนที่ดินบริเวณ
มุมถนนราชสีมา ตัดกับถนสุโขทัย อันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทาน
จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี จึงโปรดให้นายหมิว อภัยวงศ์ เป็นสถาปนิก พลโท
พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบรักตประจิต) เป็นวิศวกร ก่อสร้างโดย
บริษัท คริสเตียนนี จำกัด มีบริษัท เกอสันจำกัด ตกแต่งภายในตำหนัก
        เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น ทั้ง ๒ พระองค์จึงได้เสด็จมาประทับ
ณ ตำหนักใหม่ในราวปลายปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ พร้อมกับ
พระราชทานนามตำหนักแห่งนี้ว่า "สวนรื่นฤดี"
        สวนรื่นฤดี ตำหนักใหม่ทีพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
โปรดให้สร้างเป็น ตำหนักที่ร่มรื่นสวยงาม ประกอบด้วยสวนผลไม้
นานาชนิด เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน มะปราง ฯลฯ และมีสระว่ายน้ำ
สำหรับเสด็จลงสรงน้ำเป็นประจำด้วย
การทรงพระอักษร
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา
พัณณวดี เริ่มทรงพระอักษรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๗๓
มีหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินี
และโรงเรียนราชินีบน พร้อมด้วยครูพิศ ภูมิรัตนอาจารย์โรงเรียน
ราชินีเป็นผู้ถวายพระอักษร ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต
โดยหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภาจะเสด็จไปถวายพระอักษรในช่วงเช้า
ส่วนครูพิศถวายพระอักษรตลอดวัน
        เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เริ่มทรงพระอักษรนั้น มีพระสหาย
ร่วมศึกษาด้วยคือหม่อมราชวงศ์กอบศรี เกษมสันต์ ซึ่งสมเด็จพระศรี
สวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานมาเป็น
พระสหายและเด็กหญิงโรสลิน เศวตศิลาซึ่งพระยาอินทรทราธิบดี
สีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา) บิดา นำขึ้นถวายตัว
พระสหายทั้งสองนี้พักอาศัยอยู่ที่พระตำหนักสวนหงส์ด้วย ต่อมา
พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) ได้นำธิดาคือ เด็กหญิง
งามเฉิด อนิรุทธเทวา มาถวายตัวเป็นพระสหายจึงได้ร่วมศึกษาด้วย
โดยเดินทางมาเวลาเช้าครั้นเวลาเย็นก็เดินทางกลับ มิได้พักอาศัย
ณ พระตำหนักสวนหงส์
        การถวายพระอักษรเริ่มตั้งแต่เวลาเช้าจนกระทั่งเที่ยงวัน หลัง
จากเสวยพระกระยาหารเที่ยงกับพระสหายแล้วเข้าบรรทมเวลาบ่าย
เสวยเครื่องว่างและทรงทำการบ้าน เลิกทรงพระอักษรเวลา ๑๗.๐๐ น.
สำหรับวิชาที่ทรงพระอักษร ได้แก่ วิชาภาษาไทย วิชาวาดเขียนและ
วิชาการคำนวณ นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯยังทรงเล่นกีฬา
ต่างๆ เช่น โครเกต์ แบดมินตัน วิ่งเปี้ยว กระโดดเชือก เป็นต้นทั้งยัง
ทรงเล่นละครกับพระสหาย ทรงเป็นกันเองกับพระสหายทุกคน
ที่ร่วมศึกษา
        ต่อมา เมื่อทรงเจริญพระวัยขึ้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้
เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๗๖
ทรงมีหมายเลขประจำพระองค์ ๑๘๔๗
        ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๘ ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ทรงลาออกจากโรงเรียนราชินีขณะทรงพระอักษรในชั้นประถมศึกษา
ปีที่ ๔ เพื่อทรงพระอักษรต่อ ณ สวนรื่นฤดี โดยพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวีทรงจ้างมิสซิสเดวีส์อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
มาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษและวิชาการคำนวณนอกจากนี้
มิสซิสเดวีส์ ยังได้นำเด็กๆ ชาวต่างชาติมาร่วมกิจกรรมสนทนาภาษา
อังกฤษ ว่ายน้ำและดื่มน้ำชาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เพื่อให้
ทรงคุ้นเคยกับชาวต่างชาติและฝึกการรับสั่งภาษาอังกฤษด้วย
นอกจากนั้น ยังมีหม่อมเจ้าหญิง เสมอภาค โสณกุล ถวายพระอักษร
วิชาวรรณคดีไทยและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัว ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
        เมื่อมิสซิสเดวีส์ได้ถวายพระอักษรอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ติดต่อกับ
โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยขอให้ส่งอาจารย์มาถวายพระอักษรวิชา
ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และอื่นๆ ดังนั้น อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัฒนา
วิทยาลัยจึงส่งนางสาวศรีนาถ สุทธะสินธุ มารับหน้าที่ถวายพระอักษร
วิชาคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษการแปล
ภาษาอังกฤษเป็นไทย เป็นต้นโดยมีการ ถวายพระอักษรตามหลักสูตร
ของกระทรวงศึกษาธิการมีตารางสอนครบทุกวิชาและมีการสอบไล่
ทุกปลายปี โดยเริ่มถวายพระอักษรเวลา ๐๘.๔๐ น. จนถึง ๑๕.๓๐ น.
หยุดทุกวันพฤหัสบดี และ วันอาทิตย์ นอกจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
จะทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนางสาว
ศรีนาถ สุทธะสินธุ เป็นผู้ถวายพระอักษร แล้วยังทรงเรียนเปียโนกับ
มิสเซดี้อีกด้วย