พระจริยวัตร
        เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงปฏิบัติ
พระภารกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งต่อวิถีการดำเนิน
พระชนมชีพของพระองค์ ด้วยมีภาระมากขึ้น เวลาส่วนพระองค์ก็ลดลง อีกทั้งพระ
อนามัยก็ไม่สู้ดีนัก แต่ถึงอย่างไรก็เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้มีโอกาสเฝ้าโดยทั่วว่าสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระจริยวัตรที่งดงาม มีพระวาจาสุภาพนุ่มนวล ทรงวางพระองค์
เหมาะสม ไม่ทรงถือพระองค์ มีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระกรุณา ด้วยเหตุนี้ จึงทรง
เป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรทั่วไป มีผู้กราบทูลเชิญเสด็จไปทรงปฏิบัติพระ
กรณียกิจ และขอพระราชทานพระวโรกาสเข้าเฝ้ามิได้ขาด ซึ่งก็ทรงพระกรุณาเสด็จไป
ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ แม้บางครั้งจะเป็นสถานที่ที่ห่างไกล ทรงพระกรุณาพระ
ราชทานพระวโรกาสให้บุคคล คณะบุคคล เฝ้าอยู่เสมอ ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ได้รับ
พระราชทานพระกรุณาเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก เมื่อถึงศุภวาระวันประสูติ
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายนของทุกปี จะมีข้าราชบริพารและประชาชนเฝ้าถวายชัยมงคล
ณ วังรื่นฤดีอย่างเนืองแน่น ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จออกให้ข้าราช
บริพารและประชาชนเฝ้าถวายพระพร แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานของที่ระลึกแก่
ผู้เข้าเฝ้าถ้วนหน้ากัน
        หนึ่งในพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อันควรแก่การสรรเสริญ คือ
การที่ทรงตรงต่อเวลาเป็นอย่างยิ่ง ดังเห็นได้จากการเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจ
พระองค์จะเสด็จลงก่อนเวลาที่กำหนดเพื่อประทับรอรถยนต์พระที่นั่งและเสด็จออก
ตรงเวลา ทำให้เสด็จถึงที่หมายเพื่อปฏิบัติพระกรณียกิจได้ตรงตามกำหนดการทุกครั้ง
นอกจากนั้น พระกิจวัตรประจำวันก็ทรงปฏิบัติเป็นเวลา
        ยามว่างเว้นจากพระภารกิจ หากประทับในกรุงเทพมหานคร พระองค์จะเสด็จ
ไปทอดพระเนตรทิวทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยรถบัสพระที่นั่งขนาดกลาง สถาน ที่ซึ่งทรงโปรดไปทอดพระเนตร เช่น สวนหลวง
ร.๙ พุทธมณฑล ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม
ราชินีนาถ เป็นต้น
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มักจะเสด็จไปประทับผักผ่อนพระอิริยาบถในฤดูร้อน ณ
ตำหนักพัชราลัย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปีละประมาณ ๓ เดือน
        ด้วยพระกรุณาที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีต่อพสกนิกรนอกจากจะเสด็จไป
ประทับยังต่าง จังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เลย ยะลา ฯลฯ เพื่อทรงพักผ่อน
พระอิริยาบถแล้วยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมราษฎรเพื่อพระราชทานสิ่งของ
เครื่อง อุปโภค บริโภคทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของทหารตำรวจตระเวนชายแดน
เสด็จไปทรงเยี่ยม พระราชทานเครื่องกันหนาว และสิ่งของที่จำเป็น ทรงเยี่ยมสถาน
สงเคราะห์คนชรา สถานสงเคราะห์เด็ก องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ทั้งพระราชทาน
สิ่งของหรือเงินบำรุงกิจการนั้นๆ ด้วย
        พระจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนอีกประการ คือ ทรงนิยมและทรง
ภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้จะประทับในต่างประเทศเป็นเวลา
นาน ดังจะเห็นได้จากพระองค์โปรดทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมไทย ออกแบบและ
ตัดเย็บในประเทศไทย โปรดรองพระบาท กระเป๋าทรงถือ เครื่องพระสำอางที่ผลิตใน
ประเทศไทย ทั้งยังโปรดน้ำอบไทยเป็นอย่างมาก ทรงใช้นับแต่พระชนมายุประมาณ
๑๐ พรรษา จนกระทั่งปัจจุบัน
        เรื่องการใช้ภาษาไทย ทรงเคร่งครัดเป็นพิเศษโดยมีรับสั่งภาษาไทยถูกต้อง
ชัดเจนจะมีรับสั่งภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศเท่านั้น แม้เมื่อเสด็จมาประทับ
ประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วจะไม่เสด็จออกต่างประเทศอีกเลย ก็ยังทรงภาษาอังกฤษ
ได้เป็นอย่างดีไม่โปรดให้คนไทยกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศคำภาษาต่าง
ประเทศคำใดไม่มีศัพท์บัญญัติเป็นภาษาไทยแล้วโปรดให้ใช้คำไทย เช่น ล็อคประตู
ให้กราบทูลว่า “ลงกลอนประตู” แอร์ ให้กราบทูลว่า “เครื่องปรับอากาศ” เป็นต้น
หากคำใดยังไม่มีศัพท ์บัญญัติเป็นภาษาไทยก็ทรงบัญญัติศัพท์เอง เช่น ฟาร์มจระเข้
ให้กราบทูลว่า “ที่เลี้ยงจระเข้” เน็ตคลุมผม ให้กราบทูลว่า “ร่างแหคลุมผม” เป็นต้น
และยามที่ทรงพระอักษรเป็นภาษาไทยพระองค์จะทรงใช้เลขไทยทั้งสิ้น
        เพลงที่โปรด เป็นเพลงในบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ
โดยเฉพาะเพลงในบทพระราชนิพนธ์เรื่องงวิวาหพระสมุทร เช่น แขกสาหร่าย โย
สลัม ตะนาวแปลง ปี่แก้วน้อยและสามเส้า อีกทั้งเพลงของวงสุนทราภรณ์ เช่น พราน
ทะเล กล้วยไม้ เป็นต้น
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีความละเอียดถี่ถ้วน ทรงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
เงินใช้จ่ายส่วนพระองค์ จะทรงลงรายการไว้ชัดเจน ในเรื่องการประหยัดเห็นได้จาก
การใช้ไฟฟ้าเมื่อเสด็จเข้าห้องใดจะทรงเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเองไม่ต้องเปิดถวาย
ล่วงหน้าเมื่อเสด็จออกก็ ทรงปิดด้วยพระองค์เอง ไม่โปรดให้ผู้ใดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า
ไว้เมื่อไม่มีผู้ใดใช้งาน เมื่อสิ้นธุระแล้วต้องปิด
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระกัลยาณจิต เปี่ยมด้วยพระไมตรีต่อพระบรมวงศา
นุวงศ์ ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี พระองค์จะโปรดให้เชิญน้ำสรงไปถวายพระ
บรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเคารพและทรงสนิทสนม เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์
เจ้าอดิสัยสุริยาภา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระ
องค์เจ้าวาปีบุษบากร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระเจ้าวรวงค์
เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงษ์วิจิตร พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมานหม่อม
เจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล และหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล เป็นต้น
        ในวาระวันประสูติของพระบรมวงค์ศานุวงศ์ ก็ทรงพระกรุณาเสด็จไปพระ
ราชทานพร เช่น งานฉลองพระชันษา ๖๐ ปี ของพลโท พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์
เจ้าอนุสรมงคลการ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๘ ณ วังละโว้ เป็นอาทิ หากมิได้เสด็จ
ก็ทรงโปรดผู้แทนพระองค์เชิญของทูลพระขวัญพระราชทานไปถวาย เช่น วาระวัน
ประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เป็นต้น
        เมื่อมีงานพระบรมศพ พระศพ หรืองานศพของพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งผู้ที่
ทรงคุ้นเคยก็เสด็จไปในการนั้น เช่น ทรงรับเป็นเจ้าภาพและเสด็จไปในการบำเพ็ญ
พระกุศล
        หากมิได้เสด็จก็จะโปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญน้ำสรงหรือน้ำอาบศพพร้อมกับ
พวงมาลาไปพระราชทาน ตลอดจนเสด็จไปทรงเป็นประธานในการพระราชทาน
เพลิงศพหรือการฌาปนกิจศพแม้ฌาปนสถานบางแห่งจะอยู่ในท้องที่ห่างไกล ก็ทรง
พระกรุณาเสด็จไปหากมีภารกิจอื่นไม่สามารถเสด็จได้ก็โปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญ
ผ้าไตรและเครื่องขมาศพพระราชทานไปเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์
        บางโอกาสจะทรงพระกรุณาจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิง
ศพ หรืองานฌาปนกิจศพด้วย หากเป็นผู้ทรงสนิทสนมคุ้นเคยก็จะพระราชทานลาย
พระหัตถ์ทรงพระอนุสรณ์อาลัย เช่น เมื่อคราวที่ นางเครือ จำนงรักษา พนักงานผู้ปรุง
พระกระยาหารได้ถึงแก่กรรมก็ทรงแสดงพระเมตตา ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ความ
ตอนหนึ่งว่า “ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าคงจะได้แต่คิดถึงเครือ คิดถึงน้ำใจ คิดถึงฝีมือที่เคยทำ
ให้ความดีดวามงามของเครือที่ประกอบมาเป็นเวลายาวนานชั่วชีวิตคงจะสนองให้
เครือได้ประสบความสันติสุขในสมปรายภพอย่างแน่นอน”
        สำหรับข้าในพระองค์หรือผู้ทรงสนิทสนม หากเจ็บป่วย ก็จะเสด็จไปทรงเยี่ยม
พระราชทานพรและกำลังใจ รวมทั้งรับไว้เป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์ หากมิได้เสด็จ
ก็โปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญดอกไม้พระราชทานไปมอบเป็นกำลังใจ ยังความปราบ
ปลื้มแก่ผู้ได้รับพระราชทานพระกรุณาเป็นที่ยิ่ง
        นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาประกอบพิธีสมรสพระราชทานแก่บรรดาข้าราชการ
บริพารรวมทั้งพระราชทานนามแก่บุตรหลานของผู้ที่ทรงคุ้นเคย ตามที่ขอพระราช
ทานพระกรุณา
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักพระพุทธศาสนาอย่าง
เคร่งครัด ทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
พระองค์ได้เสด็จไปทรงสนทนา ศึก ษาพระธรรมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จ
พระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณ
สังวร ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลาประมาณ ๑ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จ
พระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายหนังสือธรรมะแด่สมเด็จพระเจ้า
ภคินีเธอฯ เพื่อทรงศึกษา หากทรงไม่เข้าพระทัยในสิ่งใดก็จะมีรับสั่งถามด้วยความ
สนพระทัยยิ่ง พระองค์โปรดรับสั่งถามในเรื่องกฎแห่งกรรม สุคติภูมิและอบายภูมิ
เป็นอาทิ การเสด็จไปทรงสนทนาธรรม มีพลเอก ประพันธ์ กุวานนท์ ราชองครักษ์
ประจำพระองค์ พร้อมด้วยพนักงานฝ่ายใน ตามเสด็จ ต่อมา สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้เสด็จไปทรงปฏิบัติศาสนกิจ ณ
ประเทศออสเตรเลีย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงทรงศึกษาธรรมะกับ นางถวิล อภัย
ภูมินารถ ในทุกวันอังคาร ณ วังรื่นฤดี
        นอกจากนี้ พระกิจวัตรก่อนเข้าบรรทมพระองค์จะเสด็จเข้าห้องพระเพื่อทรง
นมัสการและทรงสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย เป็นประจำทุกวัน
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดสดับพระพุทธมนต์และพระธรรมเทศนาเป็น
อย่างยิ่ง ทรงเปิดเทปบันทึกเสียงพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และแสดงพระธรรม
เทศนา เพื่อทรงสดับอยู่เสมอ คราวหนึ่ง ในการบำเพ็ญพระกุศลถวายสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต ณ วัดบวรนิเวศหลังจาก
พระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนาแล้ว มีรับสั่งว่า “ฟังแล้วจับใจ อยากจะอัดเทปนำไป
เปิดฟัง”
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เคยพระราชทานพระโอวาทแก่ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา
มาลากุล ณ อยุธยา ว่า “โทสะนั้นเหมือนไฟ เช่นตะเกียงที่จุดไฟ ถ้าเกิดรุนแรง
ขึ้นเมื่อใด ก็ให้ระงับเสียเหมือนเราดับตะเกียง คือ ค่อยๆ หรี่ตะเกียงลง
แล้วโทสะจะดับหายไปเอง”
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงบำเพ็ญพระองค์ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ทรงรักษาเบญจศีล อยู่เป็นนิจ มีพระวาจาสุภาพ มีพระทัยงามอย่างพิสุทธิ์ เปี่ยมด้วย
พระกรุณา
พระอัธยาศัย

พระอัธยาศัย
        “การดนตรีนั้นเป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อน ที่จะช่วยอบรมขัดเกลาจิตใจ
ของผู้ที่รักในการดนตรี ให้เป็นไปในทางที่ดี รักความดี ความงาม”
        (พระดำรัสที่พระราชทานพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียน
วชิราวุธวิทยาลัย ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๕)
        ความตอนหนึ่ง ในพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราช
สุดาสิริโสภาพัณณวดี ที่ปรากฏนี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์แสดงให้ประจักษ์ ทรงตระ
หนักในคุณค่าของการดนตรีพระองค์ทรงสนพระทัยและโปรดทรงดนตรีมาแต่ทรง
พระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน
        เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เริ่มทรงพระอักษรด้านการ
ดนตรีโดยทรงเปียโนกับมิสเซดี้ ณ สวนรื่นฤดี จวบจนเสด็จไปประทับ ณ ประเทศ
อังกฤษก็ยังทรงเรียนเปียโนกับพระอาจารย์ชาวอังกฤษ สืบต่อมา
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระปรีชาสามารถในการทรงเปียโนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ
พระอาจารย์เปิดโน้ตถวายให้ทอดพระเนตรเพียงครั้งเดียว ก็ทรงจำได้และมิต้องทอด
พระเนตรโน้ตเพลงนั้นๆ อีกในครั้งต่อไป ทั้งนี้แม้ว่าบางเพลงจะมิเคยทอดพระเนตร
โน้ตเพลงมาก่อน แต่ครั้นทรงฟังทำนองแล้วก็ทรงเล่นเพลงที่ทรงฟังนั้นได้ทันที
พระอัจฉริยภาพนี้เป็นที่ประจักษ์ถึงกับมีผู้กราบทูลเชิญให้ทรงร่วมประกวดแข่งขัน
เปียโนในขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ นอกจากนั้น ยังทรงขับร้องควบคู่กันไปกับ
การทรงเปียโนด้วย ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์จะทรงเปียโนพร้อมกับทรงขับร้อง
เป็นประจำทุกวัน ครั้นเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว พระภารกิจก็เพิ่มมากขึ้นด้วยโดย
ลำดับ จึงทรงดนตรีเฉพาะเมื่อทรงพระสำราญและทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดที่จะทรงฟังดนตรีจากแผ่นเสียงและเทปบันทึก
เสียง ทรงชำนาญในการใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรวมทั้งเครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง
เพลงบางเพลงมีเพียงทำนองไม่มีเนื้อร้อง ก็ทรงสามารถอัดเสียงเนื้อร้องของเพลง
อื่นประสานเข้ากับทำนองได้อย่างกลมกลืน
        เพลงที่โปรดเป็นเพลงในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัวเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
และเพลงของสุนทราภรณ์
        ด้วยคุณสมบัติแห่งดนตรีที่สามารถกล่อมเกลาจิตใจไปในทางที่ดี รักความดี
ความงามสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงทรงมีน้ำพระทัยที่งดงามมีอัธยาศัยอ่อนโยน
เปี่ยมด้วยพระกรุณา
ด้านการคำนวณและความทรงจำ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระอักษรวิชาคณิตศาสตร์ตามหลักสูตรของ
กระทรวงศึกษาธิการ กับมิสซิสเดวีส์และศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงศรีนาถ
สุริยะ เมื่อครั้งประทับ ณ สวนรื่นฤดี มิสซิสเดวีส์ได้ถวายพระอักษรการคำนวณปฏิทิน
และเป็นที่ทรงสนพระทัยยิ่ง ทรงจดจำวิธีการคิดคำนวณได้อย่างแม่นยำ พร้อมกับทรง
พัฒนาสูตรการคำนวณปฏิทินดังกล่าว ยังผลให้ทรงคำนวณปฏิทินได้อย่างรวดเร็วโดย
มิต้องใช้กระดาษทดคำนวณ เช่น เมื่อกราบทูลถามว่าวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ตรงกับ
วันอะไร จะทรงตอบได้ทันทีว่า “วันเสาร์” พร้อมกับทรงบอกด้วยว่า วันที่ ๑ มกราคม
ของปีใดอีกที่ตรงกับวันเสาร์และในปีปัจจุบันจะทรงจำได้ว่าวันที่ ๑ ของเดือนทั้ง
สิบสองเดือนตรงกับวันอะไร ทรงคำนวณได้ทั้งที่ย้อนหลังและล่วงหน้านับ ๑๐๐ ปี
โดยเคยทดสอบกับปฏิทินโหร ๑๐๐ ปีแล้ว ยังไม่เคยทรงพลาดเลย
        จากการคำนวณที่แม่นยำเกี่ยวกับตัวเลขนี้ จึงทรงจำวันเกิดของผู้เฝ้าได้ทุกคนดัง
เป็นที่ประจักษ์ในคราวหนึ่งเมื่อท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ได้ตามเสด็จไปยัง
โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมีผู้เคยเฝ้าพระองค์มาแล้วผู้หนึ่ง มาเฝ้ารับเสด็จ ณ ที่นั้นด้วย
ท่านผู้หญิงบุตรีได้กราบทูลถามว่าทรงจำได้หรือไม่พร้อมกับกราบทูลชื่อของชายผู้นั้น
ว่าชื่อพัฒนพงศ์ จึงมีรับสั่งว่าไม่รู้จัก เมื่อท่านผู้หญิงบุตรีกราบทูลว่า แต่ก่อนนาย
พัฒนพงศ์ผู้นี้ชื่อจุ้นเค็ง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็รับสั่งในทันทีว่า “อ๋อ จำได้แล้ว
ขอแสดงความยินดีวันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ ๕๐ ปี ของจุ้นเค็ง” ก็เป็นจริงดังรับสั่ง
ทั้งสิ้น ยังความปราบปลื้มและชื่นชมในพระอัจฉริยภาพเป็นอย่างยิ่ง
ด้านภูมิศาสตร์
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงสนพระทัยต้องพระอัธยาศัยในวิชาภูมิศาสตร์มาแต่
ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงสังเกตและจดจำทิศทางของสถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไป เช่น
เวลาเสด็จไปประทับยังต่างจังหวัด แม้จะเสด็จกลับมาแล้วหลายปี แต่ยังทรงจำได้ว่า
สถานที่ที่เสด็จไปประทับแรมหันด้านหน้าไปทางทิศใด
        พระอัจฉริยภาพด้านภูมิศาสตร์นั้นได้เป็นที่ประจักษ์ ดังที่ คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ
พระอาจารย์ได้เรียบเรียงไว้ว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้
เสด็จไปยังจังหวัดเชียงใหม่โดยทางรถไฟ มีคุณหญิงศรีนาถ ร่วมในกระบวนเสด็จ
ขณะรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีลำปาง พระองค์ได้มีรับสั่งถามคุณหญิงศรีนาถว่า “ครู
เราจะไปเชียงใหม่ทางทิศเหนือทำไมรถไฟแล่นลงทางทิศใต้” รับสั่งนี้ยังความ
ประหลาดใจแก่พระอาจารย์ยิ่งนัก ครั้นพิจารณาจากแผนที่จึงทราบได้ว่าเป็นจริงดัง
รับสั่ง เนื่องจากทางรถไฟเมื่อใกล้ถึงสถานีลำปางจะเลี้ยวลงทางทิศใต้ในระยะสั้นๆ
เพื่ออ้อมภูเขาที่ขวางอยู่ คุณหญิงศรีนาถ จึงกราบทูลอธิบายพร้อมถวายแผนที่ให้
ทอดพระเนตร
        นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงสังเกตฤดูกาล แสงเงา ทิศทางลมและ
ดวงจันทร์ประกอบกับทรงคำนวณวันที่ทางจันทรคติ ทำให้ทรงทราบกำหนดเวลา
ขึ้นลงของน้ำทะเลกับเวลาขึ้นและตกของดวงจันทร์ ดังนั้นสมุดสำหรับทรงบันทึก
จึงต้องมีวันที่ทั้งทางสุริยคติและจันทรคติ ควบคู่กันไป
        ความสนพระทัยในด้านภูมิศาสตร์นี้ นับเป็นสิ่งซึ่งน่าอัศจรรย์ ด้วยทรงศึกษาและ
ทรงฝึกฝนจนเกิดทักษะความชำนาญด้วยพระองค์เอง