พระกรณียกิจ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา
พัณณวดี ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจหลากหลาย เพื่อประโยชน์ของ
ประเทศชาติและประชาชน เป็นอเนกปริยาย แต่อาจประมวล
พระกรณียกิจเหล่านั้น เป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ กล่าวคือ
        พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระกรณียกิจอัน เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาพระกรณียกิจด้านการศึกษา
พระกรณียกิจด้านการสาธารณสุข พระกรณียกิจด้านการลูกเสือ
เนตรนารี และกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดงรวมทั้งพระกรณียกิจ
ด้านการสาธารณกุศลอื่น ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยลำดับ ดังนี้
พระราชกรณียกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        ตลอดเวลากว่า ๒๐ ปีที่ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระจริยวัตรเป็นไปในการส่วนพระองค์ แต่
การประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้พระองค์ทรงมีเวลาส่วนพระองค์
น้อยลง ด้วยพระกรณียกิจต่างๆ ซึ่งทรงตั้งพระทัยมั่นในการบำเพ็ญ
พระราชกรณียกิจอย่างสม่ำเสมอ ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม
ราชินีนาถหลายประการ โดยเฉพาะการเสด็จไปทรงปฎิบัติพระราช
กรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระต่างๆ
สุดจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

พระกรณียกิจอันเนื่องด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หอวชิราวุธานุสรณ์
        สืบเนื่องมาจากมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งสั่งการให้กระทรวง
ศึกษาธิการจัดงานฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ
(๑ มกราคม ๒๕๒๐) และ ๑๐๐ ปี (๑ มกราคม ๒๕๒๔) ของพระบาท
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มี
ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก จึงมีการก่อสร้างหอ
วชิราวุธานุสรณ์ขึ้น ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีโดยมีวัตถุ
ประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและค้นคว้าเรื่องราวอันเนื่องด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
        เมื่อความทราบฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และ
พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์หอ
วชิราวุธานุสรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๐ โอกาสนั้นทรง
พระกรุณาพระราชทานเงินสมทบทุนก่อสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์
จำนวน ๑๒๗,๐๐๐ บาทและในระหว่างการจัดงานฉลองวัน
พระบรมราชสมภพ ๑๐๐ ปี นั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรง
พระกรุณาพระราชทานเงิน จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท แก่
มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศในการประกวด
วรรณกรรมร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาเสด็จไป
พระราชทานรางวัลแก่ผู้แข่งขันโบว์ลิ่งการกุศลเพื่อหารายได้
สมทบทุนก่อสร้างวชิราวุธานุสรณ์อีกด้วย

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์

        เมื่อการก่อสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ใกล้จะสำเร็จลุล่วง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้มีพระหัตถ์ถึงหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ประธานดำเนินงานก่อสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม
๒๕๒๒ โดยมีพระดำริในการจัดตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาท
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ความตอนหนึ่งว่า
        “ด้วยหอวชิราวุธานุสรณ์ ที่ฉันได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อ
พ.ศ. ๒๕๒๐ นั้น บัดนี้คงสร้างเกือบจะเสร็จแล้ว ฉันจึงคิดว่า
น่าจะจัดตั้งมูลนิธิวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อช่วยเหลือกิจการของ
หอวชิราวุธานุสรณ์และเผยแพร่พระเกียรติของสมเด็จพระบรม
ราชชนกนาถของฉัน...”
        มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัว ได้รับอนุญาตจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน
๒๕๒๓ โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี ทรงประธาน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
  1. เผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณแห่ง
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
    เจ้าอยู่หัวและเผยแพร่ให้ปรากฏ
  3. ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
    เจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา
        ในการก่อตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้า
สุวัทนา พระวรราชเทวีได้ทรงพระกรุณาพระราชทานและประทานเงิน
เป็นทุนก่อตั้ง
        นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิพระบรม
ราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ไว้ในพระบรม
ราชูปถัมภ์ อีกด้วย
        พระกรุณาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ทรงมี
ต่อหอวชิราวุธานุสรณ์และมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีหลายประการเช่น
  • เสด็จมาทรงบำเพ็ญพระกุศล เนื่องในวันคล้ายวันฉัตรมงคลของสมเด็จพระ
    มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ของทุกปี
  • เสด็จมาทรงเปิดฤดูกาลการแสดงละครและทอดพระเนตรละครจากพระ
    ราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกปี
  • ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ห้องเกียรติรถ
  • เสด็จมาพระราชทานทุนวิจัย สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
  • พระราชทานเงินสมทบทุนมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระ
    มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
  • พระราชทานเงินจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท สมทบทุนสร้างพระบรมรูปหุ่น
    ขี้ผึ้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์มหา
    พิชัยยุทธ
  • พระราชทานเงินจำนวน ๑๐๓,๙๒๗.๗๓ บาท สมทบทุนการสร้างพระบรม
    ราชะประทรรศนีย์
  • พระราชทานเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อก่อตั้ง “กองทุนสมเด็จเจ้าฟ้า
    เพชรรัตนราชสุดาฯ” ในมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระ
    มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
การบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
        ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ได้มีหน่วยงาน
ราชการและสถาบันการศึกษา เข้าใช้สถานที่ของพระราชวังสนามจันทร์ เป็นศาลากลาง
จังหวัดนครปฐมและมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
        เมื่อความทราบฝ่าพระบาทว่า พระราชวังสนามจันทร์ได้ชำรุดทรุดโทรมลง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงพระราชทานเงินจำนวน ๑๐๑,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม
ทั้งยังทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ โดยทรงพระกรุณาแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ และมีพระดำริในการซ่อมแซมว่าควรเริ่มจากพระ
ตำหนักชาลีมงคลอาสน์และมีพระดำริในการจัดหาทุนดังปรากฏในโดยรับสั่ง มีความ
ตอนหนึ่งว่า
        “...ข้าพเจ้าเห็นสมควรดำเนินการโดยเริ่มจากพระตำหนักชาลีมงคล
อาสน์เป็นแห่งแรกพระตำหนักดัง กล่าวมีสภาพภายในชำรุดทรุดโทรม
ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้อาจจะแตกหักเสียหาย หากรองบประมาณของทาง
ราชการณ์คงไม่ทันการณ์ ข้าพเจ้าเห็นสมควรเปิดโอกาสให้ข้าราชบริพาร
มหาดเล็ก ตลอดจนราชสกุล ตระกูลต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานพระมหา
กรุณาธิคุณพระราชทานนามสกุลและพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรได้มีโอกาส
แสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อพระองค์ ร่วมใจร่วมกำลังจัดหาหรือบริจาค เพื่อ
ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยข้าพเจ้ารับเป็นประธาน”
        จากนั้นได้มีการจัดรายการพิเศษเพื่อหารายได้ มีผู้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อ
ซ่อมแซมพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์และพระราชวังสนามจันทร์เป็นจำนวนมากยังผล
ให้การดำเนินการซ่อมแซมได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในการบวงสรวงสมโภชพระ
ตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๙
การบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี
        พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จ
มงกุฎเกล้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประทับในการ
แปรพระราชฐานไปทรงสำราญพระอิริยาบถในฤดูร้อน เริ่มก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๖แล้วเสร็จในพุทธศักราช ๒๔๖๗ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลกองบัญชาการตำรวจ
ตระเวนชายแดน
        ต่อมา พระราชนิเวศน์แห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา เมื่อความทราบ
ฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงทรงสนับสนุนการบูรณะพระราชนิเวศมฤค
ทายวันโดยเสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงละครเรื่องวิวาหพระสมุทรและขุนช้าง
ขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย อันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน
๒๕๓๔ เพื่อหารายได้สมทบทุนบูรณพระราชนิเวศน์ดังกล่าว
มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ
        สำหรับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้รับจากผู้
มีจิตศรัทธาบริจาค นำมาบูรณะและบำรุงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเปิดการประชุมการจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์
มฤคทายวันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๖ และทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ใน
โอกาสนั้น ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบทุน
บูรณะและพระราชทานเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ในกาลต่อมา
        ด้วยพระบารมี การบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงสำเร็จบริบูรณ์เป็นสถาน
ที่อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งเป็นสถาน
ที่ท่องเที่ยวที่งดงามทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สมควรอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ
ค่ายหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี
        การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ค่าย
หลวงบ้านไร่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรง
พระกรุณาพระราชทานเงินสมทบทุนก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ จำนวน
๑๐๐,๐๐๐ บาท

พระกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา

        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเลื่อมใส
ในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักธรรมอย่างเคร่งครัด
ทรงอุปการะกิจการ อันเนื่องในพระพุทธศาสนาเสมอมามิได้ขาด ทั้งยังทรงรับองค์กร
มูลนิธิต่างๆ อันมีวัตถุประสงค์ทางพระพุทธศาสนาไว้ในพระอุปถัมภ์ ด้วยพระทัย
ศรัทธา
        แต่ละปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินยังพระอารามต่างๆ
ทั้งแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของส่วนพระองค์เป็นประจำทุกปี
ทั้งยังมีพระศรัทธาปสาทะพระราชทานเงินบำรุงวัดและ องค์กรทางพระพุทธศาสนา
ทั้งยังเสด็จไปในการเททองหล่อพระพุทธปฏิมา พิธีพุทธาภิเษก การตัดลูกนิมิต ยก
ช่อฟ้าสมโภชพระอาราม ตามคำกราบทูลเชิญ เป็นประจำ
        เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็โปรดทรงบาตร และเสด็จไปทรงบำเพ็ญ
พระกุศลทรงเวียนเทียน ณ พระอารามต่างๆ เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ
        มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ มีที่ทำการ ณ วัดสุทธา
ราม ถนนเจริญนคร กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาทางพระพุทธ
ศาสนาส่งเสริมจริยธรรม รวมทั้งการศึกษาสายสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา สนับสนุน
ผู้ยากไร้ให้ประกอบสัมมาชีพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์ ทั้งยังเสด็จไปทรงเป็น
ประธานในการถวายผ้าป่าบำรุงมูลนิธิ ณ ที่ทำการมูลนิธิ หลายวาระและทรงพระกรุณา
พระราชทานพระวโรกาสให้กรรมการมูลนิธิเฝ้า ณ วังรื่นฤดี และทรงกดพิมพ์พระ
เครื่องที่จัดสร้างเป็นปฐมฤกษ์ทั้งยังพระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญอักษรพระ
นาม พ.ร. ประดิษฐานบนพระพุทธรูปและพระเครื่องรุ่นต่างๆ ที่มูลนิธิจัดสร้าง
        มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ในพระอุปถัมภ์ฯ นี้ สนองพระกรุณาธิคุณด้วยการจัดสร้าง
พระเครื่องถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เพื่อพระราชทานแก่ผู้มาเฝ้าถวายชัยมงคล
ในศุภวาระคล้ายวันประสูติวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ของทุกปี

พระกรณียกิจด้านการศึกษาพระกรณียกิจด้าน
การศึกษาที่สืบเนื่องมาจาก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ในวันท
ี่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ นับแต่นั้นเป็นต้นมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้
ดำเนินกิจการสนองพระบรมราโชบายมาโดยตลอด
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในฐานะพระ
ราชธิดาพระองค์เดียวในพระผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัย ได้ทรงสืบสานพระราช
กรณียกิจในการทำนุบำรุงการศึกษาของชาติ ได้อย่างมิมีบกพร่อง โดยเฉพาะในส่วน
ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทรงพระกรุณาอุดหนุนเกื้อกูลมาอย่างต่อเนื่อง
        ในงานกาชาดที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในอดีต สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้
เสด็จพร้อมด้วยพระชนนี คือพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ไป
ทรงร่วมงานเสมอ ก็จะทรงเยี่ยมร้านของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกครั้ง ทั้งยัง
ได้ทรงสอยกัลปพฤกษ์และทรงเล่นเกมต่างๆ ที่จัดไว้ร่วมกับชาวจุฬาฯ อย่างไม่ถือ
พระองค์
        ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาทรง
เปิดอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นอาคารหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย และ
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ในโถงหน้าอาคาร
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๖ อันเป็นวาระครบ ๖๖ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย นอกจากนั้น ยังได้เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงต่างๆ ณ หอประชุม
ของมหาวิทยาลัยหลายวาระ เช่น งานรื่นฤดีคอนเสิร์ต ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดถวาย
ทอดพระเนตร เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ในวันที่ ๒๐
พฤศจิกายน ๒๕๒๙ และเสด็จมาทรงร่วมงานถวายชัยมงคลที่มหาวิทยาลัยจัดถวาย
ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๖ รอบ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้น
        เมื่อวาระ ๘๔ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอกาส ๑๒๐ ปี
แห่งวันพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัยได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้น
ณ หอประวัติจุฬาฯ การนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมา
ทรงเปิดนิทรรศการดังกล่าว ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๔ โดยได้ทรงพระดำเนิน
ทอดพระเนตรนิทรรศการอย่างทั่วถึงด้วยความสนพระทัยยิ่ง
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระกรุณาอุปการะกิจการของคณะนิติศาสตร์ เป็น
พิเศษ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานทุนทรัพย์บำรุงคณะนิติศาสตร์เป็นจำนวนมาก
ประเดิมด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระวโรกาสให้รองศาสตราจารย์
ธงทอง จันทรางศุ คณบดี พร้อมด้วยคณะกรรมการประจำคณะนิติศาสตร์ในสมัยนั้น เฝ้ารับพระราชทานทุนก่อสร้างห้องสมุดสำหรับอาคารใหม่ คณะนิติศาสตร์ เมื่อวัน
ศุกร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ พร้อมทั้งพระราชทานนามห้องสมุดดังกล่าวว่า ห้อง
ระบบสืบค้นข้อมูล “เพชรรัตน”
        นับเป็นมหามงคลอันประจวบเหมาะอย่างยิ่ง ที่อาคารใหม่คณะนิติศาสตร์นั้น
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรม
ราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามกรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
กรมขุนเทพทวาราวดี มาเป็นนามอาคารว่า “อาคารเทพทวาราวดี” และในส่วนของ
ห้องสมุด ได้รับพระราชทานนามว่า “ห้องระบบสืบค้นข้อมูล เพชรรัตน” ถือเป็นนิมิต
หมายอันดีแก่คณะนิติศาสตร์ ที่จักได้อาศัยร่มพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องมาถึงพระราชกุมารีพระองค์เดียวในพระผู้ทรงสถาปนา
มหาวิทยาลัย เป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่สืบไป
        ต่อมาในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระ
วโรกาสให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดี พร้อมด้วยผู้แทนคณะ
นิติศาสตร์ เฝ้ารับพระราชทานแผ่นจารึกสำหรับห้องระบบสืบค้นข้อมูล “เพชรรัตน”
ที่ทรงเจิมแล้ว มาประดิษฐานไว้เป็นสวัสดิมงคล และในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มีนาคม
๒๕๔๗ ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมกิจการคณะนิติศาสตร์ พระราชทานพระวโรกาสให้
บรรดาคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของคณะนิติศาสตร์ได้เฝ้า ใน
โอกาสนั้น ได้เสด็จเข้าสู่อาคารเทพทวาราวดี แล้วเสด็จขึ้นสู่ห้องระบบสืบค้นข้อมูล
เพชรรัตน ทรงพระกรุณาโปรดให้รองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีใน
ขณะนั้น เฝ้ารับพระราชทานเงินทุนบำรุงกิจการของคณะนิติศาสตร์เพิ่มเติม และ
ประทับฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ คณาจารย์ พร้อมด้วยผู้แทน
สมาคมนิสิตเก่านิติศาสตร์ พร้อมทั้งได้ทรงลงพระนามไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย จากนั้น
ได้เสด็จไปทอดพระเนตรห้องเรียนในอาคารพินิตประชานาถ และประทับเสวยพระ
สุธารส และทอดพระเนตรดนตรีซึ่งจัดถวายไว้บนชั้น ๕ ของอาคารพินิตประชานาถ
นับเป็นเกียรติยศและเป็นสวัสดิมงคลแก่หน่วยงานอย่างหาที่เปรียบมิได้
วชิราวุธวิทยาลัย
        เดิมชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นต้นรัชสมัย โดยมีพระราชประสงค์
จะทรงปฏิบัติให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีในข้อที่ว่าเมื่อสมเด็จพระมหา
กษัตริยาธิราชเจ้า เสด็จเสวยราชย์ใหม่จะต้องสร้างวัดขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ประจำรัชกาล
ของพระองค์ หากแต่ทรงเลือกสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัดเพื่อใช้เป็นสถานศึกษา
ฉะนั้น โรงเรียนวชิราวุธจึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยคล้ายวัด และพระราชทาน
พระบรมราโชบายให้โรงเรียนดำเนินการปกครองนักเรียนตามแบบ Public School
ของอังกฤษทุกประการ
        หลังจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ได้
ทรงอุปการะกิจการต่างๆ ของวชิราวุธวิทยาลัยมาโดยตลอด ทั้งในฐานะผู้แทน
พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในส่วนพระองค์เอง เช่น ในวันที่ ๒๕
พฤศจิกายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จแทนพระองค์ ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระ
บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และของส่วนพระองค์ เนื่องใน
โอกาสวันคล้ายวันสวรรคต ณ วชิราวุธวิทยาลัย
        ทุกสิ้นปีการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานประกาศนียบัตรและ
รางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย พร้อมทั้งมีพระดำรัสพระราชทานแก่นักเรียนเป็น
ประจำทุกปี พระดำรัสดังกล่าวนี้เป็นข้อเตือนใจให้บรรดานักเรียนพึงระลึกถึงหน้าที่
และข้อควรปฏิบัติของตนอันจะอำนวยผลเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น พระดำรัส
ที่พระราชทานแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๗ ความ
ตอนหนึ่งว่า
        “..ในขณะเดียวกันก็ใคร่เตือนสตินักเรียนไว้ด้วยว่า ความสำเร็จใน
ชีวิตของคนเรานั้นมิได้ขึ้นอยู่กับวิชาความรู้อย่างเดียว ยังต้องอาศัย
คุณสมบัติอื่นๆ เป็นองค์ประกอบอีกมาก จึงขอให้นักเรียนทุกคนตั้งใจ
ศึกษาเล่าเรียน หมั่นฝึกฝนตนเองให้ถึงพร้อมด้วยความรู้ความสามารถ
และคุณสมบัติอื่นๆ ทั้งในกายและในจิตใจ จักได้สามารถสร้างความ
สำเร็จสร้างอนาคตที่ดีงามให้แก่ตนเองและสามารถบำเพ็ญตนให้เป็น
ประโยชน์แก่สังคมและชาติบ้านเมืองได้ยิ่งๆ ขึ้นไป”
        เมื่อศุภสมัยที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุ ๓ รอบ วันที่ ๒๙
พฤศจิกายน ๒๕๐๔ พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๔๖๐,๐๐๐
บาท แก่วชิราวุธวิทยาลัย เพื่อสร้างอาคารเรียนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้ทรง
พระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑๘๐,๐๐๐บาท อันเป็นรายได้จากการแสดง
ละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระร่วง ใน
วาระฉลองพระชนมายุ ๓ รอบ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมทบ
เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าวด้วย อาคารนี้ ได้รับพระราชทานนามว่า “เพชรรัตน”
        สำหรับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ได้จัด
งานชุมนุมรื่นเริงปีใหม่ ถวายชัยมงคลแต่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จไปทรงร่วมงานเป็นประจำทุกปีในงานพระองค์จะทรง
ขับร้องเพลง อีกทั้งทรงเตรียมของขวัญเพื่อทรงร่วมจับสลากกับผู้ร่วมงานชุมนุม
รื่นเริงปีใหม่นั้นด้วย
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯ
        เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรง
ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎ
ราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลพายัพ แล้วทรงทราบฝ่าละอองธุลี
พระบาทว่า ทางโรงเรียนกำลังดำเนินการสร้างอาคารเรียน ก็ทรงพระมหากรุณา
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แล้วพระ
ราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย”
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระกรุณารับโรงเรียนนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่
๑ มกราคม ๒๕๒๓ และสมเด็จมาทรงเยี่ยมทอดพระเนตรกิจการโรงเรียน ในวันที่
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯ
        เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะ
ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยาม
มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังแรกของ
โรงเรียนซึ่งก่อตั้งโดยคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น ได้มีพระราชหัตถเลขา
พระราชทานนามแก่โรงเรียนแห่งนี้ว่า The Prince Royal's College แปลว่า
โรงเรียนของสมเด็จพระยุพราช โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชน มีมูลนิธิสภา
คริสตจักรในประเทศไทย เป็นเจ้าของ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัยในอุปถัมภ์
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๘
        โอกาสฉลองครบรอบ ๘๐ ปี โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัยในวันที่ ๒ มกรา
คม ๒๕๒๙ ทางโรงเรียนได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงวาง
ศิลาฤกษ์อาคารเรียนชั้นประถมศึกษาพร้อมกับทรงพระกรุณาพระราชทานนามอาคาร
หลังนั้นว่า “อาคารเพชรรัตน – สุวัทนา” เพื่อเป็นพระอนุสรณ์แห่งพระชนนี
        ระหว่างการก่อสร้างอาคาร ทางโรงเรียนได้จัดการแข่งขันแรลลี่ กรุงเทพฯ –
เชียงใหม่เพื่อหารายได้สมทบทุนการก่อสร้าง ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรง
พระกรุณาเสด็จมาพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันด้วย และในวันที่ ๒๕
มิถุนายน ๒๕๓๐ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จมาทรงเปิด “อาคารเพชรรัตน –
สุวัทนา” ณ โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่

พระกรณียกิจด้านการศึกษาที่สืบเนื่องจาก
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โรงเรียนราชินี
        สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนราชินีเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๗ ทั้งนี้ สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้เป็นพระราชนัดดา ก็ทรงใส่พระทัยในกิจการของโรงเรียนเป็น
อย่างยิ่ง
        นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ได้
ทรงพระกรุณาเสด็จไปทรงเป็นประธานในการบำเพ็ญพระกุศลเนื่องใน “วันสมเด็จ
พระพันปีหลวง” วันที่ ๒๐ ตุลาคม ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จ
พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทุกคราวที่เสด็จ
มาบำเพ็ญพระกุศล พระองค์จะทรงพระกรุณาพระราชทานเงินบำรุงโรงเรียน
        วาระฉลอง ๖๐ ปี โรงเรียนราชินีในพุทธศักราช ๒๕๐๗ นักเรียนเก่าราชินีได้
ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนก่อสร้างอาคารสโมสรนักเรียนเก่าราชินี สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้ทรงเป็นนักเรียนเก่าราชินี ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงิน
จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท ร่วมสมทบทุนด้วย พระองค์ได้พระราชทานลายพระหัตถ์
ทรงโสมนัสยินดีที่ก่อสร้างอาคารสโมสรนักเรียนเก่าราชินีแล้วเสร็จสมบูรณ์
        ในสมัยที่หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล ทรงดำรงตำแหน่งท่านอาจารย์ใหญ่
ได้ทรงประสงค์จะก่อสร้างสระว่ายน้ำสำหรับนักเรียนโรงเรียนราชินี คณะกรรมการ
สมาคมนักเรียนเก่าราชินี จึงได้จัดการรณรงค์หารายได้สมทบทุนการก่อสร้างสระ
ว่ายน้ำดังกล่าวเมื่อความทราบฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้า
สุวัทนา พระวรราชเทวี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดงาน “รื่นฤดี – ราชินี” ขึ้นที่วัง
รื่นฤดี ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ เพื่อหารายได้สมทบทุนการก่อสร้าง โดยได้
รับเงินสมทบทุนจากการจัดงานนั้นเป็น จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
        สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราช
ทานกำเนิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙
        เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงประธาน
ในงานฉลอง ๗๕ ปี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาและโอกาสเดียวกันนั้น ได้พระราช
ทานทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถแก่นักศึกษาด้วย
        ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงเปิด
อาคาร “สมเด็จพระศรีพัชรินทร” ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภาได้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิม
พระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่อมา
ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗ ได้เสด็จไปทรงเป็นประธานในงานหารายได้สมทบทุน
ก่อสร้างพระบรมราชินยานุสาวรีย์ เพื่อประดิษฐาน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ซึ่ง
งานดังกล่าวได้จัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี ในวาระนั้นทรงพระกรุณาพระราชทานเงิน
จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบทุนการก่อสร้างพระบรมราชินยานุสาวรีย์ สมเด็จ
พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสมเด็จพระอัยยิกาใน
พระองค์
ทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
        เนื่องในการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรม
ราชินีนาถ พุทธศักราช ๒๕๐๗ อันเนื่องมาจากพระดำริของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ที่ทรงพระอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระอัยยิกา จึงได้ทรงก่อตั้ง “ทุน
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” โดยโปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
สุทธสิริโสภา ทรงเป็นประธานกรรมการจัดทุนฯ เมื่อพระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าสุทธ
สิริโสภาสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ คณะกรรมการจึงทูล พระวรวงศ์เธอ
พระองค์วิมลฉัตร ทรงเป็นประธานกรรมการสืบต่อมา
        ในเบื้องแรก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระกรุณาซื้อหนังสือเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีพัชริทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไป
ยังโรงเรียนต่างๆ ทำให้มีเงินทุนจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และต่อมาในวันที่ ๒๔
พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ได้พระราชทานเงินสมทบทุน จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท
        วัตถุประสงค์ของเงินทุนนี้ คือ เพื่อนำดอกผลที่ได้มามอบเป็นทุนการศึกษาแก่
นักเรียนและนักศึกษาของสถาบันการศึกษาในพระองค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรม
ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีด้วยกัน ๑๐ แห่ง ดังนี้
  1. โรงเรียนราชินี
  2. โรงเรียนราชินีบน
  3. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
  4. โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม
  5. โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง
  6. โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง
  7. โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  8. โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี
  9. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาด
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานทุนเป็น
ประจำทุกปีนับตั้งแต่การพระราชทานทุนในวาระแรกเมื่อพุทธศักราช๒๕๐๘ เรื่อย
มาทั้งยังพระราชทานเงินสมทบทุนเพิ่มเติมในโอกาสต่างๆ เป็นประจำ
มูลนิธิหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ในพระอุปถัมภ์
        เนื่องในวาระที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันประสูติของหม่อมเจ้าหญิงพิจิตร
จิราภา เทวกุล คณะศิษย์เก่าในท่านอาจารย์หม่อมเจ้าหญิงพิจิตจิราภา จึงร่วมกัน
บริจาคเงินเป็นจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา
เทวกุล พร้อมทั้งจัดงานที่ระลึก ๑๐๐ ปี หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ในวันที่
๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๕ ณ ตึกสว่างวัฒนา โรงเรียนราชินี
        เมื่อความทราบฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงทรงพระกรุณาเสด็จ
ทรงเป็นประธานในงานดังกล่าว พร้อมกับพระราชทานเงินสมทบทุนและทรงรับ
มูลนิธิหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๒๕
ดังพระดำริในรายพระหัตถ์แสดงพระประสงค์ ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระอุปถัมภ์
ความตอนหนึ่งว่า
        “ฉันยินดีรับเชิญเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา
เทวกุล ตามที่เชิญมาเพราะตัวฉันเองก็เป็นนักเรียนเก่าราชินีผู้หนึ่งเหมือน
กัน และเห็นว่าท่านอาจารย์หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นปูชนีย
บุคคลซึ่งโรงเรียนราชินีสมควรเผยแพร่คุณงามความดีของท่านให้เป็นที่
ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป”

พระกรณียกิจด้านการศึกษาอันเนื่องในพระองค์

มหาวิทยาลัยศิลปากร
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระ
กรุณาเสด็จทรงเยี่ยม ทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๑
สิงหาคม ๒๕๑๑
        ต่อมา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ก่อสร้างอาคารที่พักของคณาจารย์และนิสิตขึ้น
ที่วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อความทราบฝ่าพระบาท จึงโปรดให้สมาคม
สตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย จัดงาน “รื่นฤดี – เพชรรัตน” ขึ้นที่วังรื่นฤดี เพื่อ
นำรายได้จากงานสมทบทุนก่อสร้างอาคารหอพักดังกล่าว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้
พระราชทานพระอนุญาตอันเชิญพระนามมาเป็นนามอาคารว่า “วิทยาลัย
เพชรรัตนฯ”
        ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี เสด็จไปทรงเปิดโครงการภาษาไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม
ความสนใจพร้อมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้านภาษาและวรรณคดี นอกจากนั้นวันที่ ๓๐
พฤศจิกายน ๒๕๓๑ ยังทรงพระกรุณาเสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกด้วย
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ และทุนเพชรรัตน
อุปถัมภ์โรงเรียนสายน้ำผึ้ง
        โรงเรียนสายน้ำผึ้ง เป็นโรงเรียนสตรี สังกัดกรมสามัญศึกษา เปิดสอนระดับมัธยม
ศึกษาปีที่ ๑ ถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงเรียนสายน้ำผึ้ง
ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕
        พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่มีคะแนน
ยอดเยี่ยมระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๑ ทุน และมัธยมศึกษาตอนปลาย ๑ ทุน ทุนละ
๑,๕๐๐ บาท นอกจากนี้ในมงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ พุทธศักราช
๒๕๒๘ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท แก่โรงเรียน
สายน้ำผึ้ง ทางโรงเรียนจึงตั้งทุนขึ้นโดยขอพระราชทานพระอนุญาตตั้งชื่อทุนว่า
“ทุนเพชรรัตนอุปถัมภ์โรงเรียนสายน้ำผึ้ง” เพื่อนำดอกผลมาพระราชทานเป็นทุน
การศึกษาแก่นักเรียนผู้มีผลการเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย มีน้ำใจช่วยเหลือ
กิจการส่วนรวม ปีละ ๔ ทุน โดยพระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานทุนในวันคล้ายวัน
สถาปนาโรงเรียนสายน้ำผึ้ง วันที่ ๒๐ สิงหาคมของทุกปี พร้อมกับพระราชทาน
ประกาศนียบัตรแก่นักเรียนผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นประจำเสมอมา
        ในโอกาสครบ ๓๐ ปี โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างอาคารอเนก
ประสงค์ขึ้นพร้อมกันนั้นได้ขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามของสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นนามของอาคารว่า “อาคารสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน” และสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จมาทรงเปิดอาคารดังกล่าวในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๘
อันเป็นวาระครบ ๓๐ ปี ของโรงเรียนสายน้ำผึ้ง
โรงเรียนเพชรรัตน
        โรงเรียนเพชรรัตน (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา”) ก่อตั้งขึ้น
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๑ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๓ บ้านโคกระกา ตำบลทัพไทย อำเภอตา
พระยา จังหวัดสระแก้ว อันเป็นแนวเขตชายแดนไทย – กัมพูชา แต่เดิมเป็นโรงเรียน
ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรม
ราชนนี ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนและราษฎรพร้อมทั้ง
ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินเพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ฉ จำนวน ๕๐,๐๐๐
บาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จพระราช
ดำเนินไปทรงเปิดอาคารเรียนและพระราชทานนามของโรงเรียน “เพชรรัตน” ตาม
พระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้พระราชทานเงินสร้างโรงเรียนดังกล่าว
        โรงเรียนเพชรรัตน เปิดทำการสอนครั้งแรกโดยกองกำกับการตำรวจตระเวน
ชายแดนเขต ๒ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ขณะนั้น
มีปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสค่อนข้างรุนแรง ทำให้การเรียนการสอนต้องหยุดชะงัก
บ่อยครั้งและเด็กนักเรียนต้องอพยพย้ายที่อยู่ตลอดเวลา ครั้นเดือนสิงหาคม ๒๕๒๑
กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๒ ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วน
จังหวัด ปราจีนบุรีได้ส่ง ให้โอนมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย และทางองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดปราจีนบุรีและในเดือนตุลาคม ๒๕๒๓ ได้โอนให้ขึ้นกับสำนักงานคณะ
กรรมการประถมศึกษาแห่งชาติตราบจนปัจจุบัน โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล
ปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
โรงเรียนเพชรรัชต์ ในพระอุปถัมภ์
        โรงเรียนเพชรรัชต์ เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษา มีนายสถาพร
รัชตะทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเพชรรัชต์และค่ายลูกเสือเพชรรัชต์
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๔ และ
ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ได้เสด็จไปทรงเปิดโรงเรียนเพชรรัชต์ และทรงปลูก
ต้นไม้เป็นที่ระลึกด้วย
สถาบันสันติราษฏร์บริหารธุรกิจ ในพระอุปถัมภ์
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับโรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์ (ปัจจุบันคือ
“สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ”) ไว้ในพระอุปถัมภ์เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน
๒๕๒๙ และทรงพระกรุณาเสด็จไปพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ในโอกาสที่โรงเรียนพณิชยการสันติราษฎร์ดำเนินการมาครบ ๓๐ ปี พระองค์ได้เสด็จ
ทรงเป็นประธานในงาน ๓๐ ปี พณิชยการศิษย์ครูเพทาย ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์
๒๕๓๖ ทั้งยังพระราชทานเงิน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อก่อตั้ง สมาคมศิษย์เก่า
พณิชยการสันติราษฎร์ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน
ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
โรงเรียนสยามธุรกิจและพณิชยการในพระอุปถัมภ์ฯ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงเรียนสยามธุรกิจพณิชยการ ไว้ในพระ
อุปถัมภ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จมาพระราชทานประกาศ
นียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นประจำทุกปี

พระกรณียกิจด้านการสาธารณสุข

ตึกมงกุฎ – เพชรรัตน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงห่วงใยผู้ป่วยอันมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ จึงทรง
พระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยฉุกเฉิน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว พร้อมด้วย
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๘ อาคารนี้ได้
ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พุทธศักราช ๒๕๑๐ ครั้นวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ
พระราชดำเนินมาทรงเปิด “ตึกมงกุฎ – เพชรรัตน” โดยมีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในวโรกาส
นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญ
กาชาดสรรเสริญ แก่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
        อนึ่ง ในพิธีเปิดตึกมงกุฎ – เพชรรัตน นี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระกรุณา
พระราชทานเงินจำนวน ๑๖,๑๔๖ บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์หนังสือ
“ตำนานสภากาชาดสยาม” เป็นอนุสรณ์ในการเปิดตึกดังกล่าว และเพื่อให้ผู้สนใจได้
ทราบประวัติความเป็นมาของสภากาชาดไทยด้วย
        ทั้งนี้ ได้ทรงทำนุบำรุง ทรงปรับปรุงและบูรณะอาคารนี้โดยตลอด ในพุทธ
ศักราช ๑๒๑๔ ได้พระราชทานเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบจัดซื้ออุปกรณ์
การแพทย์สำหรับตึกมงกุฎ – เพชรรัตน
        ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐
บาท เพื่อปรับปรุงตึกดังกล่าว
        และในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๖ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน
๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์สำหรับตึกนี้เพิ่มเติม
มูลนิธิวชิรพยาบาล ในพระอุปถัมภ์
        วชิรพยาบาลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด
เกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับมูลนิธิวชิรพยาบาล ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่
๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุน
ทรัพย์
        ทางวชิรพยาบาลได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยทางรังสีวิทยา ศัลยกรรม และกุมารเวช
กรรมขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขอพระราช
ทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระบรมนามาภิไธยมาเป็นนามของตึกหลังนี้ว่า
“ตึกมหาวชิราวุธ” พร้อมทั้งก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานที่หน้าอาคารผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จมาทรงเปิดพระบรม
ราชานุสาวรีย์และตึกมหาวชิราวุธ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๐
        เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๕ พระองค์ได้พระราชทานเงินจำนวน ๙๑,๓๐๐
บาท สมทบทุนมูลนิธิวชิรพยาบาล ในพระอุปถัมภ์ฯ
        นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงรับเป็นองค์อุปถัมภิกา โครงการ
ก่อสร้างอาคารเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์โรคหัวใจวชิรพยาบาล และเสด็จทรงเป็น
ประธานในการจัดงานหารายได้สมทบทุนก่อสร้างอาคารดังกล่าว ปัจจุบัน อาคารนี้
ได้พระราชทานนามว่า “อาคารเพชรรัตน์”
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ และมูลนิธิสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
        โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรีนั้น เดิมเป็นบ้านของ
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรถึงแก่อสัญกรรม
บ้านและที่ดินดังกล่าวได้ตกทอดเป็นของพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์)
เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าหัว ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๖๘ พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ จึงถวาย
บ้านและที่ดินแด่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จากนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาท
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงพระราชทานคืนแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๐
ได้ทรงพระดำริว่าควรประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่หน่วยงานราชการเพื่อเป็น
สาธารณประโยชน์จึงประทานแก่มณฑลทหารบกที่ ๒ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมา
กระทรวงมหาดไทย มีมติเห็นสมควรสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี
จึงโอนมาเป็นของกระทรวงมหาดไทย และดำเนินการสร้างโรงพยาบาลขึ้นในวันที่
๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔
        ในเวลาต่อมา ด้วยรำลึกถึงคุณูปการของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อวันที่ ๒๘
มกราคม ๒๕๐๙ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นสมควรเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลปราจีนบุรี
“โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร”
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไว้ในพระ
อุปถัมภ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกราบทูลขอพระกรุณา ครั้นวันที่ ๒๔ มิถุนายน
๒๕๐๙ อันเป็นวันฉลองครบ ๒๕ ปี “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” อันเป็น
นามใหม่ที่เปลี่ยนจากโรงพยาบาลปราจีนบุรีแต่เดิม
        ในพุทธศักราช ๒๕๒๘ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐
บาท เพื่อตั้งมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้พระราชทาน
นามอาคารผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นว่า “อาคารเพชรรัตน
– สุวัทนา” ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จไปทรงเปิดอาคารดังกล่าวพร้อมกับทรงวาง
ศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระ
อุปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๗
โรงพยาบาลศิริราช และทุนเพชรรัตนการุญ
        ในเบื้องแรกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินแก่โรง
พยาบาลศิริราช จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์
รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยวิธีศัลยกรรม
        ต่อมา ในพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้พระราชทานเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
เพื่อซื้อเครื่องผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
        วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๑๕ พระราชทานเงินจำนวน ๕๐๐,๙๗๗.๒๕ บาท
ทรงตั้งทุน “เพชรรัตนการุญ” ในศิริราชมูลนิธิ
        เนื่องในมงคลสมัยฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๘ พระองค์จึงพระราชทานเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
สมทบทุนสร้างตึกสยามินทร์
        วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ พระราชทานเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท สมทบ
ทุนวันมหิดลและพระราชทานเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท สมทบทุนสมเด็จพระ
บรมราชชนก เพื่อพัฒนาอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
        ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระกรุณาพระราชทานเงินสมทบทุน
ศิริราชมูลนิธิในวันมหิดลและในโอกาสอื่นๆ อยู่เสมอ

พระกรณียกิจด้านกิจการลูกเสือ เนตรนารี
และกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดน

กิจการลูกเสือ
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาคณะลูกเสือไทยขึ้น เมื่อ
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ ปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงตำแหน่งองค์
อุปถัมภิกาคณะลูกเสือแห่งชาติ
        ในพุทธศักราช ๒๕๐๖ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐
บาท เพื่อสร้าง “เรือนพยาบาลเจ้าฟ้าเพชรรัตน” ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี
ทั้งยังเสด็จมาทรงเปิดเรือนพยาบาลดังกล่าวด้วย
        เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๐๖ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จมาทรงเป็น
ประธานในการประกวดพระเครื่อง เพื่อหารายได้ให้กับคณะลูกเสือแห่งชาติ
        วาระที่กิจการลูกเสือได้ดำเนินมาครบ ๗๕ ปี เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๔
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเยี่ยมค่ายชุมนุมลูกเสือแห่ง
ชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี
        ด้วยพระกรุณาอันเป็นอเนกประการที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีต่อกิจการลูกเสือ
ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรด
เกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
แด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ค่ายลูกเสือเพชราวุธ ในพระอุปถัมภ์ฯ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาท
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและค่ายเพชรรัชต์ ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
ซึ่งเป็นค่ายลูกเสือเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทางราชการในการส่งเสริมให้
ลูกเสือ เนตรนารี และหน่วยงานราชการและเอกชน ได้มาฝึกอบรมและผักผ่อนหย่อนใจ
ณ ค่ายเพชรรัชต์แห่งนี้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมค่ายเพชร
รัชต์ เป็นการส่วนพระองค์ด้วย
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่
๙ มีนาคม ๒๕๓๔
สโมสรเนตรนารีเพชรรัชต์ ในพระอุปถัมภ์ฯ
        กิจการเนตรนารีนั้น ได้มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในครั้งนั้นโรงเรียนต่างๆ สำหรับสตรี มีโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นอาทิ ได้สนอง
พระบรมราโชบายในการจัดตั้งเนตรนารี ต่อมา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พุทธศักราช ๒๔๗๕ กิจการเนตรนารีจึงได้สะดุดหยุดลง ครั้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ หลวงชัชวาลชลธี หัวหน้ากองการลูกเสือ ได้นำร่างพระราชบัญญัติลักษณะการปกครอง
เนตรนารีให้ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ช่วยรื้อฟื้นกิจการเนตรนารีขึ้น
อีกครั้ง ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา จึงได้จัดการอบรมเนตรนารีให้แก่โรงเรียนต่างๆ เช่น
โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามโรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์ เป็นต้น
จนกระทั้งในปัจจุบันกิจการดังกล่าวได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับ “สโมสรเนตรนารีเพชราวุธ” จังหวัดสมุทร
สาครไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๕ อีกทั้งทรงพระกรุณาเสด็จไปทรง
เปิดสโมสรเนตรนารีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๒ และเสด็จไปทรงร่วม
กิจกรรมต่างๆ ตามที่สโมสรเนตรนารีเพชราวุธในพระอุปถัมภ์ กราบทูลขอพระ
ราชทานพระกรุณา
พระกรณียกิจด้านการ
สาธารณกุศลอันเนื่องในพระองค์
สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย
        กองอาสากาชาด สภากาชาดไทย (ปัจจุบันคือสำนักงานอาสากาชาด) นี้ สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๒
        พระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จไปทรงเปิดงานวันสุทธาสา ซึ่งเป็นงานประจำปี
ของกองอาสากาชาดและพระราชทานประกาศนียบัตรแก่อาสากาชาดที่สำเร็จการ
อบรมตามหลักสูตรเสด็จทรงเยี่ยมทอดพระเนตรกิจการของกองอาสากาชาด เนื่อง
ในวันกาชาด นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาพระราชทานอาหารแก่กองอาสากาชาดเพื่อ
จำหน่าย หารายได้บำรุงกิจการกองอาสากาชาด ทั้งยังทรงก่อตั้ง “ทุนสมเด็จเจ้าฟ้า
เพชรรัตนราชสุดา” ในกองอาสากาชาด มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการจัดจำหน่าย
อาหารในงานกาชาด และทรงก่อตั้ง “ทุนเพชรรัตน” ในกองบรรเทาทุกข์เพื่อเก็บ
ดอกผลบำรุงคนไข้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย
สมาพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนและสมาคมสตรี
อาสาสมัครรักษาดินแดน ในพระอุปถัมภ์ฯ
        สมาพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนและสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษา
ดินแดนจัดตั้งขึ้นโดยมีสตรีกลุ่มหนึ่งตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำริให้สตรีไทยได้มีส่วนรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหา
กษัตริย์ โดยเป็นสมาชิกแม่เสือควบคู่กับเสือป่า (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหน่วยบัญชาการ
กำลังสำรอง) สมาคมอาสาสมัครรักษาดินแดนได้จดทะเบียนเป็นสมาคม เมื่อวันที่ ๒๑
มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓
        ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ มีการก่อตั้งสมาพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนขึ้น
เพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยประสานงานและรักษาระเบียบวินัย เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กันของสมาคมซึ่งมีขึ้นในแต่ละจังหวัด จำนวน ๕๔ จังหวัด
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.
๒๕๒๘ เมื่อเริ่มแรกการฝึกนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ได้เสด็จมายังกรมการรักษาดินแดน เพื่อทรงฝึกการรับการถวาย
ความเคารพและทรงฟังการบรรยายวิชาการต่างๆ พระองค์ทรงพระกรุณาต่อทาง
สมาคมเป็นอย่างยิ่ง โดยพระองค์จะเป็นองค์ประธานในการพระราชทานดุมและ
เข็มเครื่องหมายแก่สมาชิกของสมาคม และเสด็จเป็นองค์ประธานในงานการกุศล
ต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้นเป็นประจำ

พระกรณียกิจด้านการกุศลอื่นๆพระกรณียกิจ
ด้านการสาธารณกุศลที่สืบเนื่องจาก
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา
        พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพรชรัตน – สุวัทนา ขึ้น
โดยตรงพระกรุณาประทานเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม
        มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน สงเคราะห์ผู้สละชีวิตเพื่อป้องกันประเทศ
ชาติ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา สนับสนุนส่งเสริมเพื่อรักษาไว้ซึ่ง
ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา
บำรุงโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์พระองค์ได้พระ
ราชทานเงินบำรุงมูลนิธิเสมอมารวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินโดยเสด็จพระกุศล
สมทบทุนมูลนิธินี้ด้วย
        มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา มีสำนักงานอยู่ที่สำนักงานพระคลังข้างที่ ภายใน
พระบรมมหาราชวัง
สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโครงการหน่วยสตรี
อาสาสมัครช่วยพัฒนาชุมชนของสตรีในส่วนภูมิภาค
        สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรง
สนับสนุนกิจการต่างๆ เสมอมา อาทิ เมื่อวาระวันประสูติ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน
๒๕๐๕ ทรงพระกรุณา พระราชทานเงิน จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่สภาสตรี
แห่งชาติฯ เพื่อนำไปดำเนินงานตามโครงการศูนย์แสดงผลิตผลหัตถกรรมในบ้าน
เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ครอบครัวที่ขัดสนจักได้เพิ่มพูนรายได้ด้วยการทำหัตถกรรม
ในครัวเรือน
        พระองค์ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภิกาการจัดงาน “ราตรีรื่นฤดี” ทั้ง ๓ วาระ ณ
วังรื่นฤดีเพื่อนำรายได้มาทุนจัดทำ “โครงการหน่วยสตรีอาสาสมัครช่วยพัฒนา
ชุมชนของสตรีในส่วนภูมิภาค”
        เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงเป็นประธาน
ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาสตรีแห่งชาติ ต่อมาในพุทธศักราช
๒๕๑๔ ได้เสด็จไปทรงเป็นประธานในงานเคหศิลป์ และในวันที่ ๙ กรกฎาคม ได้
เสด็จไปทรงเปิดงาน “กรุณาพัฒนาชนบท”
สมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ
        สมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่
๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยสมาคมมีวัตถุประสงค์ที่จะให้สตรีได้ร่วมบำเพ็ญ
สาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อส่วนรวม ส่งเสริมความรู้แก่สตรีให้สามารถปฏิบัติหน้าที่
อาสาสมัครสงเคราะห์แก่สังคม สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ทรงพระกรุณาเสด็จไปในงานกุศลของสมาคมสตรีอาสาสมัครแห่ง
ประเทศไทยเสมอมา
ทุนเพชรรัตนการุณ ในกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๕
        เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารแก่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นพันโทหญิง
ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ ในกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๕ ค่าย
วชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราชในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงได้
เสด็จพร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีไปทรงรับการถวายความเคารพ
จากกำลังพลในพิธีสวนสนามแสดงความจงรักภักดี โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาพระราช
ทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งเป็นทุนการศึกษาของบุตร ธิดาข้าราชการทหารในกรม
กองดังกล่าว โดยโปรดให้ใช้ชื่อทุนว่า “ทุนเพชรรัตนการุณ” ทั้งนี้ ยังมีผู้มีกุศลจิต
อาทิแม่ทัพภาค ๔ และผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๒ ในขณะนั้น โดยเสด็จพระกุศล
สมทบทุนอีกด้วย
        ในส่วนการส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กกำพร้า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้พระ
ราชทานเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท แก่โสสะมูลนิธิแห่งประเทศไทย ในพระบรม
ราชินูปถัมภ์ เพื่อก่อตั้งเป็น “ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี” โดยมีพระประสงค์ให้นำดอกผลจากทุนนี้ไปบำรุงการศึกษาและ
อุปการะเด็กกำพร้าในหมู่บ้านเด็กโสสะแห่งประเทศไทยเพื่อพัฒนาความรู้และสติ
ปัญญาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เป็นภาระสังคม
        นอกจากพระกรณียกิจหลากหลายดังกล่าวข้างต้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ประธานกรรมการ และองค์อุปถัมภิกา ของสถาบันหรือ
องค์กรเพื่อการสาธารณกุศลต่างๆ ดังนี้

๑. ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์
        ๑.๑ มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

๒. ทรงเป็นประธานกรรมการ
        ๒.๑ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

๓. ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์
        ๓.๑ สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย
        ๓.๒ คณะลูกเสือแห่งชาติ
        ๓.๓ ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์
        ๓.๔ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
        ๓.๕ มูลนิธิวชิรพยาบาล
        ๓.๖ มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์
        ๓.๗ มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล
        ๓.๘ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
        ๓.๙ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงไหม่
        ๓.๑๐ โรงเรียนปริ้นส์รอแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
        ๓.๑๑ สภาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ
        ๓.๑๒ โรงเรียนเพชรรัชต์
        ๓.๑๓ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง
        ๓.๑๔ โรงเรียนสยามธุรกิจและพณิชยการ
        ๓.๑๕ โรงเรียนพณิชยการสยาม
        ๓.๑๖ สมาคมศิษย์เก่าพณิชยการสันติราษฎร์
        ๓.๑๗ สมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย
        ๓.๑๘ สมาคมสตรีอาสาสมัครสมัครรักษาดินแดน
แห่งประเทศไทย
        ๓.๑๙ สหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน
แห่งประเทศไทย
        ๓.๒๐ สมาคมสตรีอาสาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร
        ๓.๒๑ สมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย
        ๓.๒๒ สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์
        ๓.๒๓ สโมสรเนตรนารีเพชราวุธ
        ๓.๒๔ ชมรมคนรักวัง
        ๓.๒๕ โรงเรียนศรีอยุธยา
        ๓.๒๖ สโมสรลูกเสือวิสามัญกรุงเทพฯ
        ๓.๒๗ มูลนิธิดุลยภาพฯ บำบัดเพื่ออายุและสุขภาพ
        ๓.๒๘ โรงเรียนกองทัพอุปถัมภ์ เพชราวุธวิทยา

        นอกจากพระกรณียกิจหลากหลายดังกล่าวข้างต้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ประธานกรรมการ และองค์อุปถัมภิกา ของสถาบันหรือ
องค์กรเพื่อการสาธารณกุศลต่างๆ ดังนี้
        “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราช
ธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ใน
พระบรมราชจักรีวงศ์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระมารดา ได้เสด็จ
นิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ถึงแม้จะเสด็จ
ประทับต่างประเทศนานปี แต่สมเด็จฯและเสด็จฯ พระมารดา ทรงรู้จักคุ้นเคยกับบรร
ดาคนไทยผู้ที่เคยไปศึกษาและทำงาน ณ ประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมาก ด้วยทั้งสอง
พระองค์ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพระวโรกาสให้บุคคลต่างๆ เฝ้าแหนใกล้ชิด
มาโดยตลอด
        ระยะแรกเริ่มของงานสังคมสงเคราะห์ตามรูปแบบสากลในประเทศไทย สตรี
ไทยเริ่มขยายการช่วยงานสังคมเพิ่มจากแวดวงครอบครัว เพื่อนสนิท และวงการ
ศาสนา ออกไปสู่ชุมชนที่เจ็บไข้ ยากไร้ ขาดแคลน และต้องการความช่วยเหลือให้
สามารถพัฒนาตนเองได้มีความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น คุณหญิงยุกตเสวีวิวัฒน์ เป็นสตรี
ผู้หนึ่งที่ร่วมขบวนบุกเบิกงานสังคมสงเคราะห์ โดยอาสาสมัครช่วยงานขององค์
การกุศลต่างๆ อย่างเข้มแข็ง อาทิ มูลนิธิช่วยตนตาบอดในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูล
นิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมศิษย์เก่าเซนต์โยเซฟคอนแวนต์
ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ
สโมสรโรตารี่กรุงเทพ
        นอกจากงานเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆ แล้วสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และสมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระมารดา ยังทรงติดตามงานพัฒนาความก้าวหน้าของสตรีไทย โดย
เฉพาะงานของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์อย่าใกล้ชิด ด้วยทรงเป็น
ห่วงใยในสถานภาพและศักดิ์ศรีของสตรีฯ ได้ทรงเป็นพระธุระในการขอพระราชทาน
พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม
ราชินีนาถ ให้สภาสตรีฯ ได้มีที่ทำการถาวรแห่งแรก ณ พระกรุณานิวาสน์ ถนนพิชัย
ซึ่งทุกวันนี้องค์กรสตรีอีกหลายองค์กรได้ร่วมใช้เป็นสำนักงานให้บริการแก่สตรี
ผู้เดือดร้อนขาดแคลนนานาประการ
        ตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปี ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี เสด็จประทับในประเทศไทย ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเพื่อ
ประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะสตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง
        ด้วยพระหฤทัยเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนาง
เจ้าสุวัทนา ทรงรับเสด็จพระดำเนินงานเพื่อการกุศลต่างๆ ไม่ว่าใหญ่น้อยตลอดทั้งปี
เสด็จฯ เคยรับสั่งเล่าว่า เลขาธิการพระราชวังกราบทูลล้อพระองค์ท่านว่า “เสด็จได้
ทุกงานการกุศลขอพระราชทานให้เว้นไว้เพียง “งานวัด” เท่านั้น ซึ่งในกาลต่อมา
สภาวะสังคมเปลี่ยนแปลงทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จงานที่จัดตามวัดต่างๆ ด้วย
การเสด็จพระดำเนินที่ต่างๆ นี้ เป็นโอกาสให้ประชาชนหลายกลุ่มหลายวัย หลาย
อาชีพ ได้เฝ้าฯ มากยิ่งๆ ขึ้น ทำให้เกิดความประทับใจและซาบซึ้งในพระเมตตา
บารมีกันทั่วหน้า
        เมื่อยุคสมัยของการจัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมขึ้น สถานที่จัดงานมีเพียง
อาคารเวทีลีลาศสวนอัมพรในพระราชฐาน เวทีลีลาศสวนลุมพินี สมาคมพ่อค้าไทย
สโมสรสราญรมย์ ทำให้บรรยากาศการจัดงานไม่ได้มาตรฐานตามที่ผู้จัดคาดฝัน
ไว้เท่าไหร่นัก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๓ หม่อมพร้อยสุภิณ วรวรรณ ชายาในพระเจ้า
วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ซึ่งเป็นนายกก่อตั้ง และนายกคนแรกของ
สมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูป
ถัมภ์ ได้กราบทูลเรื่องการจัดงานแสดงการแต่งกายไทยในสมัยต่างๆ เพื่อหารายได้
บำรุงทุนการกุศลของสมาคมฯ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราช
เทวีพระราชทานพระอนุญาตให้จัดงานหน้าที่พระที่นั่ง สมเด็จพระนางเจ้า พระบรม
ราชินีนาถ ณ วังรื่นฤดี โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเป็นเจ้าภาพ
ของงาน บรรดาผู้มาร่วมงานมากมาย ต่อจากงานวันนั้นสืบมามีองค์การการกุศลและ
หน่วยงานสาธารณประโยชน์อีกมากมายที่ได้รับพระราชทานพระกรุณาธิคุณให้จัด
งานในบริเวณวังรื่นฤดี
        งานช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอีกงานหนึ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรง
อนุเคราะห์ได้พระราชทานเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยให้โรงพยาบาลต่างๆ
อีกทั้งพระราชทานทุนเพื่อการอบรมบุคลากรทางการแพทย์และทุนเพื่อป่วยขาดแคลน
ทั้งได้พระราชทานพระอุปถัมภ์แก่งาน เพื่อหารายได้มาบำรุงโรงพยาบาลต่างๆ เช่น
ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในงานฉลอง ๗๒ ปีศิริราช เป็นต้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์
กษาน จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในสมัยนั้น ได้รับพระราชทาน
พระกรุณาธิคุณเป็นอเนกประการ อำนวยให้สามารถขยายบริการทันสมัยแก่ประชาชน
ผู้ป่วยไข้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเป็นลำดับ”