ในแผ่นดินพระปกเกล้าฯ
        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
พระนามแก่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี”
        พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ประทับ ณ พระที่นั่ง
เทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งพระธิดา
ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน จนถึงวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงทรงย้ายไป
ประทับที่ตำหนักเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี
ในพระบรมมหาราชวัง และได้เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับ ณ
พระตำหนักสวนหงษ์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา
มาตุจฉาเจ้า ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ด้วย
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯทรงพระราชปรารภว่าพระราชนัดดา
จะได้ทรงมีสถานที่สำราญพระอิริยาบถได้มากกว่าในพระบรมมหาราชวัง
        ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดกรณี
พิพาทระหว่างรัฐบาลกับคณะทหารที่ภักดีต่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
คณะรัฐบาลเกรงว่าจะถวายอารักขาพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งประทับ ณ วังต่างๆ
ได้ไม่ดีพอ จึงเชิญเสด็จพระราชวงศ์ฝ่ายในให้เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหา
ราชวังเป็นการชั่วคราว แต่บังเอิญมีเครื่องบินประสบอุบัติเหตุตกลงในพระราชฐาน
ชั้นในซึ่งนับเป็นเหตุร้ายแรงยังให้เจ้านายฝ่ายในทรงตระหนกพระทัยพากันเสด็จ
ออกจากพระบรมมหาราชวังไปเป็นส่วนมาก
        สมเด็จพระศรีวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า จึงทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเชิญเสด็จพระธิดาออก
มาประทับ ณ วังสระปทุม ทั้งนี้ เนื่องจากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าทรง
พระเมตตาห่วงใยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ มาโดยตลอดแม้วันประชวรพระครรภ์
พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพระอาการ มีพระราชกระแส
ปลอบโยนและประทับอำนวยการจนกระทั่งประสูติพระราชธิดา
        ในเรื่องนี้ นายสมภพ จันทรประภา ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ
“สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ” ความดังนี้
        พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเล่าถึงพระราชจริยวัตรของสมเด็จฯ ประทานว่า
“เกี่ยวกับการประสูติสมเด็จฯ ทรงจัดทั้งหมด ตั้งแต่คนต้มน้ำ คนร่อนพิธีต่างๆ
พระราชทานผ้าที่เคยทรงเวลาประสูติมาให้นุ่ง พร้อมทั้งทรงสะพักด้วยให้
ประสูติบนพระแท่นที่ท่านเคยใช้ในการประสูติ ท่านว่าจะประสูติง่าย”
        นอกจากนั้นทรงเล่าประทานให้ข้าหลวงฟังว่าเวลาประชวรพระครรภ์
นั้น สมเด็จฯ มาทรงยืนเหนือพระเศียรตลอดเวลา ทรงเจ็บปวดมาก สมเด็จฯ
มีรับสั่งให้กำลังพระทัยจนมีพระประสูติการแล้วทรงมีพระเมตตานำน้ำมา
ลูบพระพักตร์พระราชทาน
        ในระหว่างที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และพระธิดา เสด็จไปประทับ ณ
วังสระปทุมนั้น สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้ประทับที่
พระตำหนักเขียวซึ่งเป็นพระตำหนักริมคลองแสนแสบที่ทรงเคยประทับใน
ระหว่างทรงคุมงานการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่ แต่ระหว่างนั้นความไม่สงบ
ในบ้านเมืองยังไม่ยุติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า
รำไพพรรณีพระบรมราชินีจึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่จังหวัดสงขลา
ส่วนสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าก็โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์
ฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ และพระธิดาตามเสด็จประทับ
รถไฟพระที่นั่งไปสมทบพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารของ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำหนักเข้าน้อย จังหวัดสงขลาด้วย
        เมื่อเหตุการณ์สงบ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนิน
และเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และพระธิดาก็ได้ตาม
เสด็จสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า กลับมาประทับที่วังสระปทุมอีก
ระยะหนึ่ง แล้วจึงเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี
พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต
        เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระวัยขึ้น พระนางเจ้า
สุวัทนาฯ ทรงขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
เชิญเสด็จพระธิดาไปประทับ ณ ตำหนัก “สวนรื่นฤดี” ที่โปรดให้สร้างขึ้นไว้บน
ที่ดินบริเวณถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย อันเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้เมื่อคราวราชาภิเษกสมรสตำหนัก
ดังกล่าวจำลองตามแบบพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดแบบพระราชทานไว้เพื่อสร้างในที่ดิน
พระราชทานอีกแปลงหนึ่งใกล้บริเวณท่าวาสุกรี หากแต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน