เสด็จต่างประเทศ
         ด้วยเหตุที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ทรงพยาบาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ทรงพระประชวรอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗
เป็นต้นมาดังนั้นจึงทรงตระหนักในความเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อทรงสังเกตว่า
พระพลานามัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นัก จึงทรงนำความกราบบังคมทูล
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าเพื่อเรียน
พระราชปฏิบัติในการที่เชิญเสด็จพระธิดาไปทรงศึกษาและรับการอภิบาล
จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อันอาจจะช่วยให้พระอนามัยดีขึ้นได้
         ในที่สุด ทรงเลือกประเทศอังกฤษเพราะเป็นประเทศที่พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเพื่อทรงศึกษาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
นอกจาก นี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่แล้วหลายพระองค์ ที่สำคัญ
ที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ประเทศนั้นตั้งแต่ก่อนทรง
สละราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗
         อนึ่ง ในเรื่องการเตรียมการเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษของ
สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ นั้น พระนางเจ้า
สุวัทนาฯ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานคำ
แนะนำต่างๆ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่เนืองๆ ทั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระหัตถเลขาตอบจากประเทศ
อังกฤษ พระราชทานมายังพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ขณะประทับ ณ สวนรื่นฤดี
โดยได้ทรงแนะนำเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง สภาพภูมิอากาศการใช้ชีวิต
การเตรียมการซื้อสิ่งของเครื่องใช้สอยที่จำเป็น การจัดการทรัพย์สินและ
ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
         ก่อนเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ทรง
นำสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ เสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์และ
อินโดนีเซียเพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อเฝ้าเยี่ยม
พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่เสด็จไปประทับ ณ ที่นั้น เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตร
สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทอง
เขตขัตติยนารี และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น ดังที่ สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๐
จากตำหนักซินนามอนฮอลซึ่งเป็นที่ประทับในเมืองปีนัง ประทานไปยังหม่อมเจ้า
จงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา เกี่ยวกับการเสด็จมาของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน
ราชสุดาฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ไว้ ความตอนหนึ่งแสดงถึงพระอัธยาศัย
อ่อนน้อมถ่อมพระองค์ของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ว่า
         “พระองค์ธานีนำพระนางสุวัทนากับเจ้าฟ้าหญิงมาทางรถไฟจากเมือง
สิงคโปร์มาถึงปินังเมื่อวันที่ ๑๒ เธอบอกมาก่อน และขอตัวไม่มาพักที่ซินนามอน
ฮอลว่าเกรงจะเป็นการทำเทียมสมเด็จพระพันวัสสา… พ่อไปรับที่ปลายสะพาน
เห็นเจ้าฟ้าหญิงเข้าคิดสงสารจนน้ำตาไหล เธอตรัสว่าจำพ่อได้ พาไปยังโฮเต็ล
ดูห้องแล้วพ่อพาขึ้นรถไปดูแต่งประทีปที่ในเมืองแลเลยไปดูจุดดอกไม้ไฟที่
สนามม้า กลับโฮเต็ลพอได้เวลาเสวยเย็น พระนางสุวัทนาประสงค์จะพาเจ้าฟ้า
หญิงไปเฝ้าเจ้านายทุกแห่ง จึงกำหนดโปรแกรมวันที่ ๑๓ นี้ เช้าเสด็จขึ้นเขา
แต่พ่อไม่ได้ไปด้วย กลับลงมาจากเขาจะเฝ้ากรมหลวงสิงห กับพระองค์หญิงอาภา
แล้วมารดน้ำพ่อและเสวยกลางวันที่ซินนามอนฮอล ตอนบ่ายจะไปเฝ้าพระองค์
ประเวศ แล้วไปทอดพระเนตรสวนลิงเธอจะกลับกรุงเทพฯ ทางรถไฟ วันที่ ๑๔
พักอยู่ปินัง ๒ วันเท่านั้น”
         พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ประทับรถไฟ
พระที่นั่งเสด็จออกจากกรุงเทพมหานครในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ไปยัง
เมืองปีนัง จากนั้น จึงประทับเรือเดินสมุทรยูตแลนเดียออกเดินทางไปยังประเทศ
อังกฤษ ในการเสด็จมา ณ เมืองปีนังเพื่อประทับเรือเดินสมุทรนี้ ได้ทรงพบกับ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย ดังที่มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๗
มีนาคม ๒๔๘๐ ถวายแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า
         “เรื่องเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ กับพระนางเจ้าสุวัทนาไปยุโรปนั้น หม่อมฉัน
สังเกตดูในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ เขาลงชื่อผู้ไปส่งไว้บ้าง เห็นชื่อคนเก่าๆ
หลายคน นึกอนุโมทนาว่าเขาคงไปส่งด้วยรำลึกพระเดชพระคุณพระมงกุฎเกล้าฯ
นอกจากนั้นพวกลูกเสือไปส่งทั้งที่สถานีกรุงเทพฯและตามสถานีรายทางตลอดมา
จนปลายแดน ดูเป็นการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เหมือนกัน
ตอนเสด็จมาถึงปีนังมีขลุกขลักสักหน่อย นัยว่าเดิมเธอกะจะมาประทับแรมที่ปีนัง
คืน ๑ สำหรับร่ำลาพระญาติที่อยู่นี่โดยเข้าใจว่าเรือกำปั่นยุตแลนเดียจะออกจาก
ปีนังวันศุกร์ แต่เรือนั้นมาถึงวันพฤหัสบดีเวลาเช้า และเขากำหนดจะไปจากปีนัง
เวลา ๒๐ นาฬิกาในวันนั้น เจ้าฟ้าหญิงมีเวลาเสด็จอยู่ปีนังได้เพียง ๒ ชั่วโมงเดิม
หม่อมฉันคิดจะไปรับที่รถไฟให้ไปถามกงสุลว่าเขาจะยืมเรือไฟหลวงไปรับเสด็จ
ข้ามมาเมืองปีนังหรือไม่ ถ้ามีหม่อมฉันจะอาศัยไปเรือนั้นเพราะถ้าไปเรือของ
กรมรถไฟจะต้องไปคอยอยู่ที่สถานีถึง ๒ ชั่วโมงนานนัก แต่กงสุลบอกว่าไม่ได้ยืม
เรือหลวง เพราะท่านตรัสบอกมาว่าจะข้ามมาด้วยเรือของกรมรถไฟเหมือน
คนโดยสารสามัญ หม่อมฉันจึงตกลงว่าจะไปรับเพียงปลายสะพานท่าเรือ
กรมรถไฟจอด”
         นอกจากนี้ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ยังมีพระอัธยาศัยอันดีงาม นอบน้อม
ต่อพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เป็นอย่างยิ่งดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเล่าต่อไปว่า
         “พระนางสุวัทนาเธอส่งห่อกระดาษให้หม่อมฉันห่อ ๑ หม่อมฉันรับ
ใส่กระเป๋าเสื้อไว้ กลับมาถึงบ้านแก้ห่อออกดูเห็นมีผ้าผูกคออย่างสากล ๒ อัน
ก็เข้าใจว่าเป็นของเตรียมมารดน้ำปีใหม่ ได้รับส่งกันเพียงสัก ๕ นาทีเธอก็
เสด็จลงเรือช่วงพิเศษของบริษัทไปยังเรือยุตแลนเดีย ได้ยินว่าทางยุโรป
สมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็จะเสด็จมารับเมื่อเรือไปถึงมาเซ...”
         ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เรือยูตแลนเดียถึงเมืองมาเซลส์ ประเทศ
ฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรอรับและนำเสด็จไปประทับ ณ
เมืองนีสเป็นการชั่วคราวก่อน เนื่องจากขณะนั้นอากาศในประเทศอังกฤษ
หนาวเย็นมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศส
ก่อนจนกว่าอากาศในประเทศอังกฤษจะอบอุ่นขึ้น ในปลายเดือนเมษายนนั้นเอง
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ และพระธิดาจึงได้เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระราชชนนี
ศรีสังวาลย์ ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ