พระกรณียกิจ
         ทั้งสองพระองค์ได้เริ่มทรงงานเพื่อสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาคม
มูลนิธิ และองค์กรการกุศลต่างๆ อาทิ ตัวอย่างงานที่ทรงจัดขึ้นและเป็นที่
ประทับใจของคนจำนวนมากและเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างยิ่งก็คืองานเมตตา
บันเทิง “รื่นฤดี” ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่เป็นงานการกุศลซึ่งจัดขึ้นในบริเวณ
สวนอันสวยงามของวังรื่นฤดี สวนดังกล่าวนั้น พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรง
ปลูกไม้ดอกพันธุ์ใหม่ๆ แปลกกว่าพันธุ์ไม้ที่เคยพบเห็นกันมาช้านานแล้ว
ดังนั้น สวนดอกไม้ของพระองค์จึงมีผู้ปรารถนาจะมาชมกันมากในสมัยนั้น
         สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีและ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นเจ้าภาพในงาน
เมตตาบันเทิงดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร การนี้สมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงเป็นประธานในงานด้วย
         ในงานวันนั้นมีการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์หลายรูปแบบผู้แสดงล้วน
แต่เป็นบุตรหลานของผู้เป็นที่รู้จักกันดีในวงสังคม นอกจากการแสดงแล้ว
ยังมีการออกร้านอาหาร เครื่องดื่ม และขายสินค้างานฝีมือที่จัดทำอย่าง
ประณีต ยิ่งไปกว่านั้นในบริเวณงานยังประดับไฟฟ้าตามต้นไม้ใหญ่อย่าง
งดงาม ผู้มาร่วมงานต่างชื่นชมในความแปลกใหม่ของงานกลางแจ้งซึ่งไม่เคย
ได้เห็นมานานแล้ว
         การจัดงานครั้งนั้นได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ต่อมา จึง
มีหน่วยงานสาธารณกุศลต่างๆ กราบทูลขอประทานพระอนุญาตใช้วังรื่นฤดี
เป็นสถานที่จัดงานในรูปแบบต่างๆ กันหลายราย เช่น งานแสดงแบบเสื้องาน
ประกวดสักวาเพลงเรือในสระน้ำขนาดใหญ่ของวัง ฯลฯ โดยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ
ทรงเต็มพระทัยประทานพระอนุญาต ทั้งยังทรงร่วมด้วยอย่างไม่ทรงเห็นแก่
ความเหน็ดเหนื่อย ทั้งจัดงาน ทั้งเก็บดูแลภายหลังเสร็จงาน โดยเฉพาะการ
ซ่อมแซมพื้นสนาม บำรุงต้นไม้ที่เสียหายไปบ้างในระหว่างงาน และมีหลาย
คราวที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชโอรสธิดา
เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จมาทรงเป็นประธานในงาน
การกุศลซึ่งจัดขึ้น ณ วังรื่นฤดี แห่งนี้

         พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอุปการะกิจการเพื่อการสาธารณ
ประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สมาคม องค์กร และชุมนุมซึ่งบำเพ็ญประโยชน์
ต่อสังคม เช่นเมื่อครั้งทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๑๕ เมษายน
พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ทรงจัดงานฉลองพระชนมายุ ณ วังรื่นฤดี มีเจ้านาย
พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ตลอดจนพระอนุวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้จงรักภักดี
เสด็จและเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ
พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ เป็นอาทิ การนั้นได้มีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระกุศล
ตามพระอัธยาศัยเป็นจำนวนมากจึงได้ทรงสมทบเพิ่มเติมและประทานแก่
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจนสามารถสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วย
นอกและห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทางด้านสวนลุมพินี ได้ ๑ หลัง
แต่มิได้โปรดให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นนามตึก หากแต่ได้ประทานนามว่า
“ตึกมงกุฎ-เพชรรัตน” โอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราช
ดำเนินมาทรงเปิดตึก ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วย

         นอกจากนี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับมรดกคือที่ดินและบ้านของ
พระบุพการี ณ จังหวัดปราจีนบุรี ก็ทรงพระกรุณาประทานกรรมสิทธิ์ให้แก่
ทางราชการ เมื่อทางราชการได้ใช้สถานดังกล่าวสร้างโรงพยาบาลก็ไม่ทรงใช้
พระนามของพระองค์เป็นนามโรงพยาบาลแห่งนี้ หากแต่โปรดประทานนามว่า
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบรรพบุรุษ ในกาลต่อมา
เป็นเวลา ๘ ปีหลังจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ สิ้น
พระชนม์แล้ว โรงพยาบาลได้สร้างอาคารเพิ่มเติมเป็นอาคารสูง ๔ ชั้น และขอ
พระราชทานพระอนุญาตขนานนามว่า “อาคารเพชรรัตน-สุวัทนา”นับเป็น
ครั้งแรกที่มีพระนามปรากฏต่อสาธารณชนบนถาวรวัตถุสถาน
         ส่วนการพระศาสนานั้น ทรงศรัทธาร่วมการก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์
พระอุโบสถ เสนาสนะ และพระพุทธรูปอีกทั้งยังโปรดเสด็จไปทรงทอดผ้า
พระกฐินส่วนพระองค์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั้งใกล้และไกล
ทั่วทุกภาค พร้อมทั้งทรงเยี่ยมประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จและประทานเครื่อง
นุ่งห่มและยารักษาโรคแก่ผู้ยากไร้ตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกลที่เสด็จไปทรงทอด
กฐินเป็นประจำทุกปี
         นอกจากนี้ ยังทรงอุปการะกิจกรรมซึ่งเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว ร่วมกับพระธิดาอยู่มิได้ขาด