เสด็จต่างประเทศ
เสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ
        ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา พระนางเจ้า
สุวัทนา พระวาราชเทวี มีพระดำริว่าสมควรจะนำเสด็จไปทรง
พระอักษรต่อ อีกทั้งเสด็จไปประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศ
อังกฤษ เนื่องด้วยประเทศอังกฤษนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้
ประทับอยู่แล้ว นับแต่ก่อนทรงสละราชสมบัติ
ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗
        ก่อนเสด็จไปประเทศอังกฤษ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ได้นำเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปกราบบังคมทูลลา สมเด็จ
พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงลา
พระบรมวงศ์ เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อาทรทิพยนิภา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร เป็นต้น พระบรมวงศ์เธอทุกพระองศ์
ต่างก็ทรงรักใคร่มีพระไมตรี พร้อมกับพระราชทานพรแด่สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ โดยเฉพาะสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงส่งเสด็จ
พระราชนัดดาที่สวนรื่นฤดี ทรงประคองสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ให้เสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง แล้วมีพระราชกระแสว่า “ไปรักษาพระองค์
เสด็จกลับมาหาย่า”
        ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๘๐ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และ
พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี เสด็จออกจากกรุงเทพมหานคร
โดยขบวนรถไฟสายใต้ไปยังปีนังเพื่อเสด็จลงประทับเรือยูตแลนเดีย
(Jutlandia) มุ่งไปยังเมืองมาแซลส์ (Marseilles) ประเทศ
ฝรั่งเศสเป็นที่หมายแรก
        ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงปีนังเวลา ๑๘.๔๕ น. ทั้งนี้เรือยูต
แลนเดียมีกำหนดออกจากท่าเรือเมืองปีนังเวลา ๒๐.๐๐ น. ณ ที่นั้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระเจ้า
วรวงค์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณีได้เสด็จมาส่งเสด็จที่ท่าเรือ จึงมี
พระดำรัสทูลลากันที่ท่าเรือจากนั้นเสด็จลงประทับเรือที่รับผู้โดยสาร
ไปยังเรือยูตแลนเดีย ครั้นถึงเวลาที่กำหนดเรือยูตแลนเดียก็ออกจาก
ท่าเรือเมืองปีนังและมุ่งหน้าไปยังที่หมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส

        เรือยูตแลนเดีย ถึงเมืองมาร์แซลส์ (Marseilles) ประเทศ
ฝรั่งเศส ในวันที่ ๒เมษายน ๒๔๘๑ ณ ท่าเทียบเรือ พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรม
ราชินีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯและ
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี แล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณานำเสด็จไปประทับ ณ โรงแรมอีเดน
(Eden Hotel) ตำบล คับดายล์ (Cap d’Ail) เมืองนีส (Nice)
ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศทางชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส
มีหาดทรายเป็นแนวยาวเรียกว่า ริเวียราเนื่องจากในขณะนั้นอากาศ
ในประเทศอังกฤษหนาวเย็นมาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
เจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับ ณ ประเทศ
ฝรั่งเศสก่อน จนกว่าอากาศในประเทศอังกฤษจะอบอุ่นขึ้น

        จวบถึงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จออกจากประเทศ
ฝรั่งเศส เพื่อไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระราช
ชนนีศรีสังวาลย์ (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) ณ พระตำหนักวิลลา
วัฒนา เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระชนนี ประทับ ณ กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ถึงวันที่ ๒๖
เมษายน ๒๔๘๑ แล้วสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี เสด็จ
ออกจากรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีหลวงประ-เสริฐไมตรี
ข้าราชการเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสตามเสด็จไปถวาย
ความสะดวกระหว่างทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
        เมื่อเสด็จถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง
พระกรุณาโปรดเกล้าจัดสถานที่ประทับแรมชั่วคราว ณ โรงแรม
เคนซิงตัน กรุงลอนดอน
        จากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ ตำหนักแฟร์ฮิล (Fair Hill)
เมืองแคมเบอร์เลย์ (Camberley) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey)
ซึ่งเป็นตึกขนาดใหญ่ ๒ ชั้น มีห้องสมุดห้องบิลเลียด และห้องพัก
อีกหลายห้อง ภายนอกตำหนักประกอบด้วย สนามเทนนิสสนาม
หญ้าและสวนไม้ผลต่างๆ มีลูกแพร์ แอปเปิ้ล เป็นอาทิ ตำหนัก
แฟร์ฮิลล์แห่งนี้เดิมนายพลซอร์ตนั่ม เป็นเจ้าของ
        ระหว่างประทับ ณ ตำหนักแฟร์ฮิลส์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลี
พระบาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า
รำไพ-พรรณี พระบรมราชินี ณ ตำหนัก Virgenia Water อยู่เนืองๆ
ทั้งยังเสด็จไปทรงร่วมงานประชุมที่ St. George School,
Harpenden เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ยังได้เสด็จประพาส
เมืองสำคัญต่างๆ ในประเทศอังกฤษ เช่น ออกซฟอร์ด ซัมเมอร์เซท
บาธและลินมัธโดยมีคุณสัตยวดี จารุดุล หม่อมหลวงต่อ ชุมสาย และ
คุณหนุ่ยโชติกเสถียร ตามเสด็จ
        สำหรับการทรงพระอักษร ขณะประทับ ณ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ นี้
สมเด็จพระเจ้า ภคินีเธอฯได้ทรงพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษ กับ
มิสแอดดี้ และหม่อมหลวงต่อ ชุมสาย ถวายพระอักษรภาษาไทย
        อนึ่ง ระหว่างที่สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ณ
ประเทศอังกฤษ นั้น ได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ที่ตำหนักแฟร์ฮิลล์ด้วย เนื่องจากเมื่อสมัยที่
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์ พระองค์
ก็ได้เสด็จไปเฝ้าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรี
ราชสิรินธร เป็นประจำ ซึ่งก็ทรงเมตตาต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
เป็นอย่างยิ่ง

        เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น ประเทศอังกฤษตกอยู่ใน
ภาวะสงครามและถูกจู่โจมอย่างรุนแรงในปีพุทธศักราช ๒๔๘๓
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนจึงกราบทูลเชิญสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนีไปประทับ ณ โรงแรมอิมพีเรียล
เมืองแลนดัทโน (Landudno) ทรงภาคเหนือของแคว้นเวลส์
โดยมีคุณสัตยวดี และนายกาญจนีย์ จารุดุล ตามเสด็จ

        ในช่วงเหตุการณ์สงครามโลก ประเทศอังกฤษต้องประสบ
กับภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
และพระชนนีก็ทรงได้รับผลกระทบจากสงครามโลกเช่นกัน
ทรงรับการปันส่วนอาหารเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ในระยะ
นั้นทรงประสบความยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัญหาด้าน
การเงิน ด้วยการส่งเงินจากเมืองไทยไปถวายนั้นไม่อาจทำได้
โดยสะดวกนัก จนถึงกับต้องทรงขายเครื่องประดับส่วนพระองค์
เพื่อนำที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างนั้นแต่กระนั้นก็ทรงมีน้ำ
พระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระกรุณาต่อผู้ประสบภัยจากสงคราม
โดยทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือกิจการ
สภากาชาดอังกฤษด้วย
        เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใกล้ยุติ ทั้งสองพระองค์ได้ทรง
ย้ายไปประทับ ณ ตำหนักเลขที่ ๒๖ ถนนหลุยส์เครสเซนต์
เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซคสำหรับตำหนักที่ประทับนั้นเป็น
อาคารชุดขนาดใหญ่ ๔ ชั้น ติดชายทะเล ห่างจากตำหนัก
ประมาณ ๑ กิโลเมตร มีสะพานทอดลงไปในทะเลอันเป็น
สถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของ ชาวเมือง
        เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง การรักษาพระอนามัยของ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ซึ่งขาดช่วงไปในระหว่างสงคราม
ถึง ๔ ปี ก็ถูกสานต่ออย่างจริงจังขึ้นอีกครั้ง ตลอดเวลาพระชนนี
ทรงพระวิริยะในการอภิบาลพระอนามัยเป็นอย่างมาก ทรง
จัดหาแพทย์และวิทยาการที่ดีที่สุดเท่าที่จึงพึงหาได้ในขณะนั้น
แม้จะต้องใช้ระยะเวลาเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพียงใดก็ไม่
ทรงย่อท้อทรงเชิญเสด็จพระราชธิดาไปทรงรับการตรวจและ
รักษาพระองค์ที่สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลาสั้นๆโดยประทับ
เรือ Queen Mary เป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ เมื่อเสด็จกลับจาก
สหรัฐอเมริกามารับการถวายพระอภิบาลต่อที่ ประเทศอังกฤษนั้น
พระโอสถที่จะต้องถวายก็ต้องส่งมาจากที่สหรัฐอเมริกาเสมอโดย
นำส่งทางเครื่องบิน ในช่วงดังกล่าว ทุกประเทศกำลังฟื้นตัวจาก
ภาวะสงครามสถานะทางการเงินโดยรวมก็ไม่อาจเรียกได้ว่าดีนัก
จึงทรงตัดสินพระทัยขายที่ดินชิ้นใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา(ปัจจุบัน
คือท่าวาสุกรี ติดกับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งได้รับพระราชทานจาก
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับสวนรื่นฤดี) ให้กับ
รัฐบาลไทย ผลจากพระวิริยะแห่งพระชนนีนี้เอง พระอนามัยของ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ทรงสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ
        ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประทับ ณ ตำหนักถนน
หลุยส์เครสเซนต์ ได้ทรงพระอักษรด้านไวยากรณ์และในวรรณคดี
ภาษาอังกฤษ และยังทรงเรียนเปียโนกับพระอาจารย์ชาวอังกฤษ
ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถใน
การทรงเปียโนเป็นอย่างยิ่ง ทรงจดจำโน้ตเพลงได้อย่างแม่นยำ
เมื่อทอดพระเนตรแล้ว จะทรงจำได้ มิต้องถวายให้ทอดพระเนตร
ในคราวต่อๆไป พระปรีชาสามารถในการทรงเปียโนเป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดการลีลาศด้วย ทุกครั้งที่เสด็จไปในงาน
สโมสรต่างๆ รวมทั้งงานพระราชทานเลี้ยงที่ตำหนัก ก็จะทรง
ร่วมลีลาศด้วยทุกคราว เป็นที่ทรงพระสำราญอย่างยิ่ง
        สำหรับการทรงงานอดิเรก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรด
การถักนิตติ้ง และโครเชต์ พระองค์จะทรงถักผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน
ผ้าพันคอและเสื้อคลุม อีกทั้งโปรดการปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ
โดยในเวลาบ่ายของทุกวันจะเสด็จทรงดูแลสวนตำหนักด้วย
พระองค์เองบางโอกาสเสด็จไปทรงพระดำเนินตามชายหาด หรือ
ประทับรถประจำทางเสด็จไปทอดพระเนตรทิวทัศน์ของเมืองไบรตัน
แล้วเสวยพระสุธารสตามร้านต่างๆ ก่อนเสด็จกลับ
        ในระหว่างประทับ ณ ประเทศอังกฤษนี้ มีชาวไทยผู้พำนักใน
ประเทศอังกฤษไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือนักเรียนผู้เดินทางมาศึกษา
ต่อขอพระราชทานพระวโรกาสเฝ้าเป็นประจำ ทั้งนี้ ก็ทรงพระกรุณา
พระราช ทานพระวโรกาสให้เฝ้าทั้งยังพระราชทานเลี้ยงอาหารอีกด้วย
        เมื่อถึงวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็จะทรงจัดงาน
พระราชทานเลี้ยงณ ตำหนักที่ประทับเป็นประจำทุกปี โดยมีข้าราชการ
และนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ เฝ้าถวายชัยมงคลและรับ
พระราชทานเลี้ยง
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงใส่พระทัยร่วมในกิจการของ
สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเป็นสมาคมของนักเรียนไทย
ในประเทศอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้
พระราชทานกำ- เนิดขึ้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงรับเป็นพระองค์
อุปถัมภ์ ของสามัคคีสมาคมฯ รวมทั้งเสด็จไปทรงร่วมกิจกรรมของ
สมาคมเสมอมา เช่น เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๗ สมเด็จพระเจ้า
ภคินีเธอฯ และพระชนนีได้เสด็จมาทรงร่วมงานประชุมประจำปีที่เมือง
บอร์นมัท (Bournemouth) ในงานมีการแสดงปาฐกถา การโต้วาที
ตลอดจนการฉายภาพยนตร์เหตุการณ์การประชุมที่ผ่านมา ในวันสุดท้าย
ของการประชุมมีการแข่งกีฬา เพื่อความสามัคคีและค่ำวันนั้นสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำ พร้อมทั้งพระราช
ทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ จากนั้นมีการลีลาศ
ในโอกาสนี้ ทรงร่วมลีลาศกับสภานายกของสามัคคีสมาคมฯ และผู้ที่ทรง
คุ้นเคยเป็นที่ทรงพระสำราญ
        อนึ่ง หลังจากที่หม่อมเจ้าหญิงจันทรจำรัส เกษมสันต์ เสด็จมา
ถวายพระอภิบาล ณ ประเทศอังกฤษได้ระยะหนึ่ง ก็ทรงสมรสกับ
มิสเตอร์ค๊อกซ์ ซึ่งเคยทำงานอยู่บริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนเวนส์ จำกัด
ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ต่อมามิสเตอร์ค๊อกจึงเป็นผู้ช่วย
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในการจัดการผลประโยชน์ต่างๆ เช่น
การซื้อขายหุ้น รวมทั้งการกราบทูลแนะนำให้ทรงขายตำหนักที่ถนน
หลุยส์เครสเซนต์และการซื้อตำหนักใหม่ที่ถนนได๊กโรด (Dyke
Road Avenue) เมืองไบรตัน
บ้านรื่นฤดี
        คือ ตำหนักไหม่ ณ เลขที่ ๓๐ ถนนได๊กโรด เมืองไบรตัน มณฑล
ซัสเซค องค์ตำหนักตั้งอยู่บนเนินลาด เป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ มี
ห้องพัก ๗ ห้อง ตำหนักแห่งนี้มีเนื้อที่ ๔ ไร่ บริเวณรอบองค์ตำหนัก
เป็นสวนปลูกไม้ดอกไม้ผลนานาชนิด มีเรือนเพาะชำเป็นเรือนกระจก
(Green House) สำหรับปลูกต้นไม้ต่างๆ เช่น องุ่น เป็นอาทิ
        พิธีขึ้นตำหนักใหม่มีขึ้นในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๙๘ พระนางเจ้า
สุวัทนาพระวรราชเทวี ประทานนามพระตำหนักแห่งนี้ว่า "บ้านรื่นฤดี"
        สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดบ้านรื่นฤดี และทรงพระสำราญใน
การย้ายมาประทับ ณ ตำหนักนี้อย่างยิ่ง ทรงจัดแบ่งเวลาประกอบพระ
กรณียกิจต่างๆในระหว่างวันอย่างเคร่งครัดทั้งในการทรงงานทั่วไปและ
การส่วนพระองค์ แต่ที่มักจะขาดเสียมิได้ คือ เวลา ๑๖.๐๐ น. สมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จไปทรงพระดำเนินในสวน สมเด็จพระเจ้า
ภคินีเธอฯ โปรดการเลี้ยงนกมากได้โปรดให้สร้างกรงนกขนาดใหญ่
อย่างสวยงาม พร้อมพระราชทานชื่อกรงนกนี้ว่า "บุหงาลันตา"
นอกจากนั้นส่วนใหญ่มักจะมีผู้มาขอเฝ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์ ซึ่งก็ทรง
พระกรุณาให้เฝ้า และทรงรับรองอย่างดีเป็นที่ประทับใจและกล่าวขาน
ถึงพระอัธยาศัยนี้กันโดยทั่วไป
        ระหว่างระทับ ณ ประเทศอังกฤษสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จ
ไปทรงผักผ่อนพระอิริยาบถยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและสหรัฐ
อเมริกาด้วย เช่นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้เสด็จประพาสยุโรป และ
ในการเสด็จยุโรปครานั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนีได้
เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้า อุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งมีพระประสูติกาล
ได้ไม่นาน ณ เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
        การเสด็จไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
มีลายพระหัตถ์ถึงคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ผู้ถวายพระอักษร
ขณะประทับ ณ สวนรื่นฤดี โดยทรงบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่พระองค์
ได้ทอดพระเนตรระหว่างการเสด็จครั้งนั้นอย่างละเอียด

เสด็จไปประเทศอินโดนีเซีย
        เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา
พัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ได้ทรงสังเกตว่าสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯมีพระอนามัยไม่สมบูรณ์นักจึง
กราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าว่าหากเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไป
ประทับรักษาพระองค์ ณ ประเทศที่เจริญด้านการแพทย์แผน ปัจจุบัน
แล้ว อาจช่วยให้พระอนามัยดีขึ้นได้ ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลี
พระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้
พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
นำเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปประทับผักผ่อนพระอิริยาบถใน
ประเทศใกล้เคียงก่อน เพื่อให้ทรงคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของ
ต่างประเทศ พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรจึงทรงนำ
เสด็จไปประเทศอินโดนีเซีย เพราะขณะนั้น จอมพล สมเด็จพระเจ้า
บรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดลกรมขุนอู่ทองเขต
ขัตติยนารี ประทับอยู่ในประเทศนั้น ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๐
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้นำเสด็จสมเด็จ
พระเจ้าภคินีเธอฯและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับเรือ
บอนตากูซึ่งจอดเทียบท่าที่เกาะสีชัง พร้อมด้วยผู้ตามเสด็จอันได้แก่
หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอโสณกุลหม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค
โสณกุล คุณจำเนียร กงกะนันท์ และคุณหนุ่ย โชติกเสถียรออกจาก
ประเทศไทย
        เมื่อเสด็จถึงประเทอินโดนีเซีย รัฐบาลฮอลันดาซึ่งปกครองประเทศ
นั้น ได้จัดการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น
พิทยลาภพฤฒิยากร ได้นำเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ
ได้แก่ โบราณสถานบุโรพุทโธที่เมืองยอร์กจาการ์ตา สวนพฤกษชาติ
เมืองบอยเต็นซอค หมู่บ้านบริเวณช่องเขาปุนจัก เป็นอาทิ จากนั้นได้
เสด็จไปยังเมืองบันดุง เพื่อเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรม
พระนครสวรรค์วรพินิต ณ ที่นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิตและพระธิดา ได้ทรงจัดการรับเสด็จ
อย่างสมพระเกียรติ ทั้งยังทรงนำเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ไปทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ในเมืองบันดุงด้วยพระเจ้า
วรวงศ์เธอพระองศ์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดา ได้ทรงเรียบเรียง
ไว้ว่า
        “สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา เคยได้เฝ้าพ่อบ้างแล้วที่
กรุงเทพฯ ครั้งนี้สนิทสนมมากทรงเกาะพระพาหาพ่ออยู่เรื่อย
ดูเหมือนจะทรงรู้สึกว่าขาดพ่อ ฝ่ายพ่อก็ทรงสงสารและ
รับสั่งว่าสงสารพ่อที่ไม่ทันเห็นลูกโต”
        นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังเสด็จไปทรงเยี่ยม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ซึ่งประทับ
ณ เมืองบันดุงนั้นด้วยจากเมืองบันดุงได้เสด็จต่อไปยังเกาะบาหลี
ซึ่งเป็นสถานที่ตากอากาศสวยงาม และมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่า
สนใจ แล้วเสด็จไปยังประเทศสิงคโปร์ระยะหนึ่ง จากนั้นได้
ประทับรถไฟไปยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อทรงเยี่ยม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ
        เมื่อเสด็จถึงเมืองปีนัง หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล เฝ้ารับเสด็จที่สถานีรถไฟ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ
หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เฝ้ารับเสด็จที่ท่าเรือฝั่งเมืองปีนัง
        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
มีลายพระหัตถ์ถึงหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่า
เหตุการณ์ตอนนั้นว่า “พ่อไปรับที่ปลายสะพานเห็นเจ้าฟ้าหญิง
เข้าคิดสงสารจนน้ำตาไหล เธอตรัสว่าจำพ่อได้ พาไปยังโฮเต็ล
พอดูห้องแล้วพ่อพาขึ้นรถไปดูแต่งประทีปที่ในเมืองและเลยไป
ดูจุดดอกไม้ไฟที่สนามหญ้า (ขณะนั้นทางรัฐบาลมาเลเซียซึ่งอยู่
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้จัดงานฉลองพิธีบรมราชาภิเษก
พระเจ้ายอร์ชที่ ๖ แห่งอังกฤษ) กลับมาโฮเต็ลพอได้เวลาเสวยเย็น
พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประสงค์จะพาเจ้าหญิงไปเฝ้าเจ้านายทุกแห่ง”

        ณ เมืองปีนัง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี ประทับ
ที่โรงแรมอีแอนด์ โอพร้อมด้วยเฝ้าตามเสด็จ มิได้ประทับ ณ ตำหนัก
ซินนามมอนฮอล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประทับของสมเด็จพระเจ้า
บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี มีพระประสงค์ที่จะประทับที่โรงแรม ด้วยทรง
เกรงว่าจะเป็นการทำเทียมสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ
ตำหนักซินนามอนฮอลนี้ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จ
มาเมืองปีนังไม่นาน

        การเสด็จมาประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในครานี้ ทั้งสอง
พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรทิวทัศน์ของเกาะปีนังบนภูเขา
จากนั้นเสด็จไปทรงเยี่ยม พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองศ์เจ้าวุฒิไชย
เฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอาภาพรรณี แล้วเสด็จมาพระราชทานน้ำสรงสมเด็จ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมทั้งร่วม
เสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ตำหนักซินนามอนฮอล ตอนบ่าย
เสด็จไปทรงเยี่ยมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย
และสถานที่สุดท้ายก่อนเสด็จกลับได้เสด็จไปทอดพระเนตรสวนลิง
เมื่อทรงเยี่ยมเจ้านายและเสด็จประพาสเมืองปีนังพอสมควร แล้ว
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ประทับรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยผู้ตามเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร